เมื่อวันที่ 25 ก.พ.63 สมาคมค้าทองคำรายงานราคาทอง(ทองคำ 96.5%) ในประเทศเปิดตลาดเมื่อเวลา 09.25 น.ปรับตัวลดลงจากวานนี้บาทละ 450 โดยราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 24,700.00 ขายออกบาทละ 24,800.00 ขณะที่ราคาทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 24,256.00 ขายออกบาทละ 25,300.00 สำหรับราคาทองคำในประเทศเมื่อวานนี้ (24 ก.พ.) มีการเปลี่ยนแปลงถึง 12 ครั้ง โดยราคาครั้งสุดท้ายราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 25,150.00 ขายบาทละ 25,250.00 ส่วนทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 24,695.64 ขายบาทละ 25,750.00 บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หลังจากราคาปรับตัวขึ้นแรงส่งผลให้มีแรงขายทำกำไรสลับเข้ามาเพิ่มขึ้น หากราคาสามารถยืนเหนือแนวรับ 1,642 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้จะเห็นการดีดตัวขึ้น โดยยังมีโอกาสที่จะราคาทดสอบแนวต้านบริเวณ 1,658-1,669 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตามวันนี้ราคามีการสร้างระดับต่ำสุดใหม่จากวันก่อนหน้า หากราคาปรับตัวขึ้นยังคงต้องระมัดระวังแรงขายที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ราคาทองคำวานนี้ปรับตัวขึ้น 14.18 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยแรงขายทำกำไรกดดันให้ทองคำลดช่วงบวกที่ทำมาในระหว่างวัน หลังราคายะยานขึ้นแรงไปแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2013 บริเวณ 1,689.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ประกอบกับสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าจากความต้องการสกุลเงินปลอดภัยจึงเป็นปัจจัยกดดันราคาเพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังความวิตกเกี่ยวกับการระบาดของ Covid-19 นอกประเทศจีนยังคงอยู่ ล่าสุดอิตาลีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 220 ราย เสียชีวิตเพิ่มเป็น 7 ราย ส่วนบาร์เรน,อิรัก,โอมาน,คูเวต และอัฟกานิสถาน มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรก สร้างความวิตกว่า การระบาดที่ขยายวงกว้างจะยิ่งกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจนกดดันให้ดาวโจนส์ปิดตลาดร่วงลง 1,031.61 จุด ทำสถิติร่วงลงในวันเดียวหนักสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2018 ด้านโกลด์แมน แซคส์ หั่นคาดการณ์ GDP ไตรมาส 1 ของสหรัฐฯเหลือ 1.2% จาก 1.4% อันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในประเทศต่างๆ นอกจากนี้การระบาดของไวรัสยังไปกระตุ้นการคาดการณ์เกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในปีนี้อีกด้วย สะท้อนจาก FedWatch Tool ที่บ่งชี้ว่า เทรดเดอร์คาดมีโอกาส 85% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยภายในการประชุมเดือนก.ค.ปัจจัยที่กล่าวมาจึงยังคงช่วยพยุงราคาทองคำเอาไว้ สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จาก CB และดัชนีภาคการผลิตจากเฟดริชมอนด์