เมื่อวันที่ 24​ ก.พ. 63 กรมราชทัณฑ์ออกแถลงการชี้แจง ระบุว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ตามที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้กล่าวหาว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกฯ อาจมีส่วนปกปิดซ่อนเร้น คดีอาชญากรรมทางการเงิน 1MDB (1Malaysia Development Berhad) หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของมาเลเซีย โดยทางการไทยมีส่วนร่วมในการจับกุมคนบริสุทธิ์เข้าคุก บิดผันกระบวนการยุติธรรมและทำลายความสัมพันธ์กับหลายประเทศนั้น กรมราชทัณฑ์ ขอชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้​ กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับตัวนายจัสโต้ ซาเวียร์ อันเดร ไว้ในการควบคุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.58 ตามหมายขังของศาล ต่อมามีคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 17 ส.ค.58 (ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.2657/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2737/2558) ตัดสินให้จำคุกผู้ต้องขังรายดังกล่าว ในข้อหารีดเอาทรัพย์ (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 338, 80) โดยมีพฤติการณ์กล่าวคือ จำเลยเคยเป็นลูกจ้างบริษัทปิโตรซาอุดิ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (ผู้เสียหาย) ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บริหาร เมื่อผู้เสียหายเลิกจ้างจำเลยตามกฎหมายแล้ว จำเลยกลับขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับของผู้เสียหาย ทั้งจะขายข้อมูลความลับดังกล่าวให้กับบุคคลภายนอกหากผู้เสียหายไม่ยอมจ่ายเงิน จำนวน 2.5 ล้านฟรังก์สวิส (หรือประมาณ 80.6 ล้านบาท) การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงและสามารถก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจแก่ผู้เสียหายได้ จึงลงโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 3 ปี อย่างไรก็ตามระหว่างถูกคุมขังกระทรวงต่างประเทศได้ส่งหนังสือคำร้องขอโอนตัวนายจัสโต้ฯ เพื่อกลับไปรับโทษต่อยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตามสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสวิสเซอร์แลนด์ ว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิด ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาโอนนักโทษ ครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 14 ก.ย.59 ได้มีมติไม่เห็นชอบให้โอนตัวนายจัสโต้ฯ เนื่องจากมีคุณสมบัติขัดต่อพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527 มาตรา 25(3) กล่าวคือโทษจำคุกที่นักโทษต่างประเทศจะต้องรับต่อไปในราชอาณาจักรเหลืออยู่น้อยกว่า 1 ปี ของโทษจำคุกทั้งสิ้นตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายภายในของไทย มิได้มีประเด็นกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่อย่างใด ทั้งนี้นายจัสโต้ฯ ถูกจำคุกอยู่ประมาณ 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.58 – 20 ธ.ค.59 และได้รับการปล่อยตัวไป ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในวโรกาสสำคัญของชาติ 2 ฉบับ ในปี พ.ศ.2559 โดยกรมราชทัณฑ์ได้มอบตัวนายจัสโต้ฯ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยมีเจ้าหน้าที่สถานทูตสวิสเซอร์แลนด์เข้าร่วมสังเกตการณ์นายจัสโต้ฯ ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไป เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.59 ด้วยเที่ยวบินที่ TG 970 อนึ่งระหว่างการถูกควบคุมตัว เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้อนุญาตให้ผู้ต้องขังดังกล่าวเขียนรายชื่อบุคคลในครอบครัวและเพื่อนที่เจ้าตัวประสงค์จะให้เข้าเยี่ยมไว้ในแบบฟอร์มของทางเรือนจำจำนวน 10 รายชื่อ การเข้าเยี่ยมของบุคคลนอกเหนือจากรายชื่อดังกล่าวก็มีเพียงแต่การเข้าสอบสวนปากคำเพิ่มเติมในคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยพนักงานสอบสวนกับพวก ซึ่งมีหนังสือราชการขออนุญาตมาด้วยทุกครั้ง จากกรณีดังกล่าวอาจมีการทำให้ประชาชนเข้าใจผิดถึงการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ จึงขอยืนยันว่ากระบวนการควบคุมตัวนายจัสโต้ฯ ไปจนถึงการปล่อยตัวเป็นการดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างถูกต้องสอดคล้องกับหลักสากลทุกประการ.