รองผู้ว่าฯฝ่ายทหารจี้ตำรวจติดตามคดีจยย.ชนท้ายรถบรรทุกเป็นเหตุให้เด็ก 14 พิการ ไร้การเหลียวแลช่วยเหลือเยียวยา หลังคดีไม่คืบกว่า 4 เดือน วันที่ 24 ก.พ.63 พ.อ.กรกานต์ นาเวชวนิชกุล รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้เดินทางพร้อมด้วยนายจตุพล พวงมาลี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายคำรณ พวงมณี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายจำนงค์ พ่วงสำราญ สมาชิกอบต.ศิลาลอย เข้าพบปะให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพข้าวสารอาหารแห้ง แพมเพิส นม อาหารเหลว สำหรับคนไข้ผู้ป่วยติดเตียงให้กับเด็กชายนิติภูมิ ศรีอินทร์ อายุ 14 ปี ที่นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสามร้อยยอด ภายหลังจากประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถบรรทุกที่จอดข้างทางทำให้ได้รับบาดเจ็บ สมองถูกกระแทก กระทบกระเทือน กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เหตุเกิดบริเวณหน้าร้านอาหารใบเตย ขาขึ้น กทม. เมื่อเวลาประมาณ 20.20 น.ของวันที่ 12 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุคนขับรถบรรทุกได้หลบหนี เจ้าของกิจการรถบรรทุกไม่เคยมาเหลียวแลผู้บาดเจ็บ แถมคดียังไม่คืบหน้า โดยผู้ประกอบการรถบรรทุกอ้างว่ารถจอดอยู่บริเวณไหล่ทางด้านซ้ายแล้วเพื่อไปรับประทานอาหาร จึงทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าหลังเกิดเหตุแล้วค่อยมาเปิดไฟหรี่ของรถหรือไม่ และสถานที่ดังกล่าวรถบรรทุกสามารถจอดได้หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้มีการตีเส้นจราจรเว้นไว้เพื่อให้รถบรรทุกจอดพักเหมือนจุดอื่นๆตามไหล่ทาง จึงได้ประสานผ่านพันตำรวจเอกนิรันดร ศิริสังข์ไชย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบ ให้ช่วยเร่งรัดติดตามคดี เพื่อให้เด็กผู้ประสบเหตุได้รับการช่วยเหลือเยียวยาบ้างตามหลักมนุษยธรรม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้มีการเข้มงวดห้ามรถบรรทุกจอดรถกินเลนบนไหล่ทาง หากฝ่าฝืนปรับ 5,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือน และถ้ายังทำอีกจะแก้กฎหมายเพิ่มโทษหนัก พร้อมพัฒนาระบบจีพีเอสเช็กพิกัดรถบรรทุกจอดไหล่ทางบริเวณใด ซึ่งเคยกาหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตขนส่งมีหน้าที่ต้องจัดเตรียมเครื่องหมายหรือสัญญาณไว้ประจำรถจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ชิ้นต่อคัน โดยเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้หลายรูปแบบร่วมกัน ประกอบด้วย เครื่องหมายเตือนรูปสามเหลียมด้านเท่า กรวยสะท้อนแสง โคมไฟ สัญญาณ เพื่อวางบริเวณด้านหน้าและด้านท้ายรถกรณีที่เครื่องยนต์หรือเครื่องอุปกรณ์ของรถขัดข้อง โดยวางเครื่องหมายหรือสัญญาณในระยะห่างจากรถไม่น้อยกว่า 50 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่สามารถเตือนให้ผู้ใช้รถอื่นสังเกตุเห็นและหลีกเลี่ยงหรือหยุดรถได้อย่างปลอดภัย และให้รีบดำเนินการแก้ไขย้ายรถออกจากทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สำหรับรูปแบบของเครื่องหมายหรือสัญญาณที่จะต้องแสดงเมื่อจำเป็นต้องจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางทั้ง 3 รูปแบบ มีลักษณะรายละเอียด ดังนี้ เครื่องหมายเตือนรูปสามเหลียมด้านเท่ายาวไม่น้อยกว่าด้านละ 50 เซนติเมตร พร้อมขาตั้งหรือฐานตั้งขอบสีแดงสะท้อนแสง ด้านในเครื่องหมายอาจมีพื้นสีขาวและรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำหัวท้ายมนในแนวดิ่ง หรือมีแถบสะท้อนแสงสีแดงเพิ่มเติม หรือเป็นพื้นที่เปิดโล่งก็ได้ ส่วนกรวยสะท้อนแสง ต้องสูงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ฐานตั้งกว้างไม่น้อยกว่า 28 เซนติเมตร พื้นสีส้มตลอดทั้งอันมีแถบสะท้อนแสงสีขาวกว้างไม่น้อยกว่า10 เซนติเมตร คาดตามแนวนอนโดยรอบอย่างน้อย 1 แถบ ส่วน โคมไฟสัญญาณ ขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 6 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 24 เซนติเมตร พร้อมขาตั้งหรือฐานตั้ง ส่วนของไฟสัญญาณต้องเป็นไฟสีเหลืองอำพันกะพริบและไฟสีขาว ทั้งนี้หากผู้ประกอบการขนส่งไม่จัดเตรียมเครื่องหมายไว้ประจำรถตามที่กำหนด มีความผิดตามกฎหมายฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ2558 มีโทษปรับไม่เกิน 50000 บาท ส่วนกรณีผู้ขับรถละเลยไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณเมื่อจำเป็นต้องจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทาง มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับรถและผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น พิสิษฐ์​ รื่นเกษม​ ข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์