‘น้ำอ้อยไร่ไม่จน’ ทางออกใหม่ของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย สร้างแบรนด์ แปรรูปสินค้า กำหนดราคา แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน “เมื่อก่อนครอบครัวเราเราปลูกอ้อยส่งโรงงานผลิตน้ำตาล ทำให้เราคลุกคลีกับอ้อยมาตั้งแต่เด็ก แต่เราเจอปัญหาเหมือนกับที่เกษตรกรทั่วไปเจอ คือ ราคาอ้อยจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับราคาตลาด บางปีก็ราคาสูง บางปีก็ราคาต่ำ เราจึงอยากหลุดจากวงจรนี้ โดยที่ทำอย่างไรให้เราเป็นคนกำหนดราคาเอง และแปรรูปสินค้าขายเอง” ปภัสราภรณ์ เหรียญทอง เป็นตัวอย่างของลูกหลานเกษตรกรอีกหนึ่งคนในประเทศไทยที่มองเห็นปัญหาจากการทำเกษตรแบบเดิม ๆ และตัดสินใจลุกขึ้นมาปฏิรูปธุรกิจจากผลผลิตทางการเกษตรของครอบครัวใหม่ พร้อมกับการสร้างแบรนด์น้ำอ้อยพร้อมดื่มภายใต้ชื่อตราสินค้า “ไร่ไม่จน” “จากเมื่อก่อนที่เราปลูกแค่พันธุ์อ้อยส่งโรงงานน้ำตาล เราก็เริ่มศึกษาพันธุ์อ้อยมากขึ้น ว่าพันธุ์ไหนเหมาะกับการนำมาแปรรูปเป็นน้ำอ้อย จนมาพบกับพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ที่สีสวย กลิ่นหอม ความหวานกำลังดี เราก็เริ่มคั้นขายสดตามท้ายรถ ลูกค้าก็ติดใจ” แม้จะผันตัวเองมาปลูกอ้อยคั้นน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต แต่ ปภัสราภรณ์ ก็ต้องประสบกับปัญหาว่า แม้น้ำอ้อยที่ได้จะมีคุณภาพดี รสชาติอร่อย แต่ไม่สามารถเก็บได้นาน จึงทำให้ขนส่งไปได้ไม่ไกล และส่งผลให้โอกาสในการขยายธุรกิจมีน้อย จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้เกิด “น้ำอ้อยพาสเจอไรซ์” เจ้าแรกของประเทศไทย ที่นำน้ำอ้อยมาผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ จนสามารถยืดระยะเวลาการเก็บไว้ได้นานกว่าเดิม “จุดแข็งของน้ำอ้อยของเรา คือ ความเป็นธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ เราไม่แต่งสี ไม่แต่งกลิ่น ไม่ใส่วัตถุกันเสียต่าง ๆ รวมถึงวัตถุดิบของเราได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ซึ่งเป็นเกษตรปลอดภัย ทำให้ไม่มีสารเคมีตกค้างในอ้อยเราจึงไปปรึกษาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าจะทำยังไงให้น้ำอ้อยอยู่ได้นานขึ้นโดยไม่ใส่สารเคมี จนมาสู่กระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาจากสามวันเป็นสองสัปดาห์ได้ ทำให้เราส่งสินค้าของเราไปได้ไกลขึ้น” นอกจากจะสามารถเก็บรักษาสินค้าไว้ได้นานขึ้นแล้ว กระบวนการผลิต “น้ำอ้อยไร่ไม่จน” ยังสามารถรักษารสชาติ และคุณประโยชน์จากน้ำอ้อยตามธรรมชาติไว้ได้นานที่สุด นอกจากนี้ ปภัสราภรณ์ ยังให้ความสำคัญกับการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดยการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ดีไซน์สวย ซึ่งช่วยให้มูลค่าสินค้าเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ทำการพาสเจอไรซ์ 4 เท่า เป็น 8 เท่าในเวลาต่อมา และยังสามารถส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลียและประเทศแคนาดาได้อีกด้วย นอกจากนี้ ระบบธุรกิจของน้ำอ้อยไร่ไม่จน ยังเผื่อแผ่ไปถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อย โดยใช้ระบบวิสาหกิจชุมชนเข้ามาเป็นกำลังหลักในการผลิตอ้อยส่งโรงงานถึง 3 แห่ง ทำหน้าที่ปลูกและคั้นเข้าสู่โรงงาน โดยมีการรับซื้อแบบประกันราคา เพราะน้ำอ้อยไร่ไม่จน เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร ปภัสราภรณ์ จึงอยากจะทำให้ชุมชนคนปลูกอ้อยโดยรอบเติบโตไปอย่างมั่นคงพร้อมกันด้วย รายการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี เรื่อง “น้ำอ้อยพาสเจอไรซ์” ทางรอดของเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว รายการ ‘เพื่อนคู่คิด’ นำออกอากาศเผยแพร่ทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 33 เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2562 สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บไซต์ www.bangkokbank.com/puankookit และ www.facebook.com/puankookit