เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวให้ความเห็นกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ว่า รู้สึกเห็นใจพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกพรรคโดยเฉพาะคณะกรรมการบริหารพรรคที่ต้องประสบสถานการณ์อันยากลำบากในครั้งนี้ ทุกฝ่ายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติควรศึกษากรณีนี้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยต่อไปภายหน้าจะได้เข้าใจหลักการสำคัญที่ว่า พรรคการเมืองคือสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำโดยบุคคลใดหรือคณะใดซึ่งเป็นหลักสากลของระบบพรรคการเมืองทั่วโลกที่ต้องการให้ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชนจึงมีหลักกฎหมายบัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลหรือคณะบุคคลใดละเมิดหลักการนี้ ตัวอย่างเช่นการบัญญัติใน พ.ร.บ.พรรคการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันจำกัดการบริจาคหรือสนับสนุนจำนวนเงินหรือทรัพย์สินใดๆ เพื่อมิให้ครอบงำและใช้อิทธิพลทางการเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดต่อพรรคการเมืองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะตัวหรือเฉพาะกลุ่ม นอกจากในภาครัฐแล้วภาคเอกชนก็ถือปฏิบัติเช่นบริษัทมหาชนก็นำหลักการนี้ไปใช้เช่นกันในการจำกัดการถือหุ้นป้องกันการครอบงำกิจการและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของกิจการด้วยในกรณีพรรคการเมืองก็คือสมาชิกพรรคทุกคนเป็นเจ้าของพรรคดังนั้นองค์กรใดสถาบันใดที่เป็นของมหาชนไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนล้วนต้องถือปฏิบัติทั้งทางพฤตินัยและนิตินัยโดยเคร่งครัดมิฉะนั้นจะเข้าข่ายกระทำความผิดและถูกลงโทษตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตัวอย่างเช่นกฎหมายประเทศอังกฤษต้นแบบประชาธิปไตยระบุว่าเงินให้พรรคการเมืองกู้ยืม (นอกเหนือจากการพาณิชย์) ถือเป็นเงินบริจาค เพื่อป้องกันพรรคการเมืองถูกครอบงำโดยใครคนใดคนหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อเป็น "เงินบริจาค" ก็จะถูกควบคุมด้วยกฎหมายพรรคการเมืองว่าด้วยการบริจาค บุคคลหนึ่งหรือนิติบุคคลหนึ่งๆ ห้ามบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเกินกว่าจำนวนเท่าไร ซึ่งถ้าบริจาคเกินจำนวนก็จะมีความผิดเพราะหากไม่กำหนดเช่นนี้ ต่อไปอาจมีนายทุนให้พรรคการเมืองกู้ยืม และพรรคการเมืองนั้นก็จะเป็นของนายทุนคนนั้นแบบเบ็ดเสร็จ มากกว่าที่จะเป็นสถาบันการเมืองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย กฎหมายไทยก็ใช้หลักเดียวกับของอังกฤษ