สะเทือนเลื่อนลั่นต่อแวดวงเศรษฐกิจ การค้า ของภูมิภาคอุษาคเนย์ หรืออาเซียน เรา มิใช่น้อย สำหรับ ข้อตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรป หรืออียู กับเวียดนาม แดนญวน ที่ “รัฐสภาอียู” มีมติเห็นชอบในที่ประชุม ซึ่งมีขึ้น ณ อาคารรัฐสภาของอียู หรือรัฐสภายุโรป ในเมืองสตราสบูร์ก แคว้นกร็องแต็สต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส เมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นมติผ่านฉลุย ที่สามารถกล่าวได้ว่า สมาชิกรัฐสภาอียู “เห็นชอบ” ด้วยจำนวนคะแนนเสียงอย่าง “ท่วมท้น” นั่นคือ 401 ต่อ 192 เสียง สำหรับ การอนุมัติ หรือเปิดไฟเขียว ในข้อตกลงการค้าระหว่างอียูกับเวียดนาม ภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มเปิดฉากการเจรจามาหลายเพลาแล้ว ก่อนบรรลุเป็นผลมติในที่ประชุมของอียูออกมา โดยเป็นผลมติออกมา ที่ต้องบอกว่า ลบล้างข้อกังขา ความคลางแคลงใจว่า สมาชิกสภาอียู จะเห็นชอบด้วยกับข้อตกลงการค้า กับเวียดนาม ประเทศคู่ค้าที่ถูกกล่าวขวัญว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักประเทศหนึ่ง ถึงขนาดที่เหล่าผู้สันทัดกรณี ต่างชี้นิ้วฟันธงตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า “โรคเลื่อน” อาจจะถามหาการลงมติในการประชุมของสมาชิกรัฐสภาอียูดังกล่าว คือ มีความเป็นไปได้สูงที่สมาชิกรัฐสภาอียู อาจจะเลื่อนการลงมติออกไป ด้วยเงื่อนไขในปัญหาสิทธิมนุษยชนในเวียดนามเป็นปัจจั นั่นเอง ทว่า ปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภาอียู กลับลงมติผ่านฉลุยด้วยจำนวนคะแนนเสียงตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งก็ต้องนับว่า พลิกล็อกหักปากกาเซียนกันไป อย่างไรก็ดี ได้มีบรรดานักวิเคราะห์ ออกมาแสดงทรรศนะว่า เหตุปัจจัยระดับทรงอิทธิพลยิ่งที่ทำให้สมาชิกรัฐสภาอียูลงมติในที่ประชุมอย่างท่วมท้นเยี่ยงนี้ ก็มีมาจาก “กำลังภายใน” ของ “กลุ่มการเมือง” กลุ่มหนึ่งจากฟากเยอรมนี แดนอินทรีเหล็ก นั่นเอง นั่นคือ “กลุ่มพันธมิตรก้าวหน้าแห่งสังคมนิยมและประชาธิปไตย” หรือ “เอสแอนด์ดี (S&D : Progressive Alliance of Socialists and Democrats) ในเยอรมนี เป็นผู้ผลักดันจนมติที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาอียูผ่านฉลุย ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงกลุ่มการเมืองดังกล่าว ก็ต้องนับว่า มีอิทธิพลสูงยิ่งในรัฐสภาอียู หรือรัฐสภายุโรป ซึ่งทางเหล่าแกนนำของกลุ่มการเมืองข้างต้น ได้ออกมาส่งสัญญาณแสดงท่าทีถึงการสนับสนุนข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม ภายหลังจากการประชุมสมาชิกรัฐสภาอียูเสร็จสิ้น โดย “นายแบร์นด์ ลังเงอ (Bernd Lange)” ในฐานะ “รองประธานกลุ่มการเมืองเอสแอนด์ดี” และยังดำรงตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าแห่งรัฐสภาอียู” กล่าวว่า ตามประวัติศาสตร์ที่เป็นมา ได้แสดงให้ความเห็นว่า การโดดเดี่ยวประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ได้ส่งผลดีทำให้ประเทศนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด ทว่า การมีปฏิสัมพันธ์ ความร่วมมือด้านต่างๆ ต่างหากที่จะก่อให้ประเทศนั้นๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงมากกว่า พร้อมกันนั้น รองประธานกลุ่มการเมืองเอสแอนด์ดีของเยอรมนี ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าแห่งรัฐสภาอียู ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า และนั่นก็เป็นเหตุผลว่า ทำใมรัฐสภาอียู จึงได้มีมติผ่านการเห็นชอบในข้อตกลงการค้ากับเวียดนามออกมาเช่นนั้น แม้ว่าจะมีสมาชิกรัฐสภาอียูจำนวนหนึ่ง มีความแตกต่างจากสมาชิกเสียงเสียงส่วนใหญ่ก็ตาม ทั้งนี้ มีสมาชิกรัฐสภาอียูจำนวนหนึ่ง ซึ่งนำโดยจากชาติฝรั่งเศส อย่างเช่น “แอมมานุแอล มัวเรล” ตัวแทนจากแดนน้ำหอม ทางการปารีส แสดงทรรศนะเชิงลบว่า ตนไม่เชื่อว่า ทางการเวียดนาม รัฐบาลฮานอย จะรักษาคำมั่นที่ให้ไว้ว่า จะปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศของพวกเขาให้ดีขึ้น เพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการค้าจากอียูข้างต้น ขณะที่ บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะด้วยว่า แท้จริงแล้ว เยอรมนี ประเทศของประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าของรัฐสภาอียูข้างต้น ได้ออกมาแสดงพลังสนับสนุนข้างต้น ก็เพราะว่า เป็นคู่ค้าที่สำคัญของเวียดนามด้วย นั่นเอง ทั้งในด้านการนำเข้าและส่งออกระหว่างทั้งสองประเทศ ตามข้อมูลขององค์การสังเกตการณ์ความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ หรือโออีซี ล่าสุด ที่ระบุว่า มีผลประโยชน์ทางการค้าคิดเป็นมูลค่ารวมกันแล้วนับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแต่ละปี เหล่านักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า ทั้งอียูและเวียดนาม ล้วนต่างสมประโยชน์ไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยทางอียู จะสามารถส่งออกสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เครื่องจักรกล และยา เครื่องเวชภัณฑ์มายังเวียดนาม ส่วนเวียดนาม ก็จะส่งออกอาหารทะเล สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ไปยังอียู เพิ่มขึ้น โดยที่อัตราภาษีศุลการ ซึ่งถูกระบุว่า สูงถึงร้อยละ 99 ถูกขจัดทิ้งไป ด้วยข้อตกลงกาารค้าฉบับดังกล่าว โดยอียู ภายใต้การนำของเยอรมนี ซึ่งเปรียบได้กับพี่เบิ้มใหญ่ของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปแห่งนี้ ก็ต้องพยายามหาคู่ค้าของอียูรายใหม่ ด้วยสองปัจจัยที่พาให้เป็นไป ได้แก่ ปรากฏการณ์แห่งเบร็กซิต จากการที่สหราชอาณาจักร ภายใต้การนำของอังกฤษ ได้ออกจากจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ซึ่งก็จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของอียูไม่น้อยเหมือนกัน อีกปัจจัยด้านลบต่อมา ก็คือ การที่ทางการสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มเบนเข็มการทำศึกสงครามการค้ามาเผชิญหน้ากับสหภาพยุโรปมากขึ้น ภายหลังจากได้สัประยุทธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ จนสามารถกดดันให้พญามังกร มานั่งโต๊ะเจรจาการค้าเฟสแรกกับสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ ขณะเดียวกัน ทางด้านเวียดนามก็ได้ประโยชน์จากข้อตกลงฉบับนี้เช่นกัน ด้วยการได้เยอรมนี เป็นประตูที่จะนำไปสู่ตลาดอียู และเพิ่มคู่ค้า เพื่อรับประกันความปลอดภัยจากสงครามค้าโลก ที่มีความเป็นไปได้ที่อาจจะปะทุจนเกิดการปะทะขึ้นมาอีก รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องจากไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด ณ ชั่วโมงนี้ โดยข้อตกลงข้างต้น ก็จะเป็นปฐมบทกรุยทางที่จะนำไปสู่ข้อตกลงเขตการค้าเสรี “อียู-เวียดนาม” หรือ “อีวีเอฟทีเอ หรือที่เรียกกันสั้นว่า “อีฟตา (EVFTA : European – Vietnam Free trade Area)” เป็นลำดับถัดไป และส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้าของอียูใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ที่เป็นคู่ค้าหมายเลขหนึ่งของอียูในภูมิภาคอุษาคเนย์แห่งนี้ ด้วยเม็ดเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นบำเน็จรางวัล