วันที่ 23 ก.พ.63 ที่หน่วยส่งเสริมหม่อมไหมตรัง ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อมไหม เป็นประธานและร่วมในพิธีเปิดหน่วยส่งเสริมหม่อมไหมตรัง โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นางอารอบ เรืองสังข์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนาหมื่นศรี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการและชาวบ้านร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ภายในหน่วยหม่อมไหมตรัง มีการจัดนิทรรศการเปิดโรงเลี้ยงไหม สาธิตการสาวไหม การย้อมผ้าไหม สาธิตการทอผ้าด้วยกี่กระตุก พร้อมทั้งมีการแจกต้นกล้าหม่อมไหมอีกด้วย นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ กล่าวว่า กรมหม่อนไหมจัดตั้งหน่วยส่งเสริม ขึ้นใน จังหวัดตรังเพื่อรับผิดชอบพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งเดิมพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด มีศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชุมพร และ นราธิวาส รับผิดชอบ ทำให้การให้บริการงานด้านหม่อนไหมไม่ทันความต้องการของกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหม ประกอบกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีผลให้พืชเศรษฐกิจ ประสบปัญหาด้านราคา อาชีพด้านหม่อนไหมจึงเป็นทางเลือกที่ดี นายวสันต์ กล่าวอีกว่า กรมหม่อนไหมจึงได้ร่วมกับจังหวัดตรังและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จัดตั้งหน่วยส่งเสริมหม่อนไหมตรังขึ้น โดยใช้พื้นที่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ประมาณ 8 ไร่ สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านหม่อนไหม เพื่อให้ผู้สนใจ เยาวชน ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปเข้ามาศึกษาเรียนรู้การประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม ซึ่งในพื้นที่ ประกอบด้วย แปลงหม่อนใบพันธุ์สกลนครและบุรีรัมย์ เพื่อใช้เลี้ยงไหม และพันธุ์เชียงใหม่ซึ่งเป็นหม่อนผลสดเพื่อบริโภค และหม่อนทั้งสองชนิดสามารถนำมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ได้อีก อาทิ น้ำหม่อน ชาใบหม่อน เป็นต้น "กรมหม่อนไหมได้มอบหมายให้สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 5 จังหวัดชุมพร เป็นผู้กำกับดูแล หน่วยส่งเสริมหม่อนไหมตรัง โดยมีหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุน และให้บริการด้านหม่อนไหมกับเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด ศึกษาวิเคราะห์งานด้านหม่อนไหม ติดตามประเมินผลและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาด้านหม่อนไหมในพื้นที่ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2562 ขณะนี้กรมหม่อนไหมได้เริ่มส่งเสริมให้มีการเลี้ยงไหม ซึ่งจะเริ่มสาวเส้นไหมได้ในเดือนหน้า เมื่อกลุ่มเกษตรกรสาวเส้นไหมได้จะสามารถลดจำนวนการสั่งซื้อเส้นไหมของกลุ่มลงได้ "นายวสันต์ กล่าว นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย (ตรานกยูงพระราชทาน) 2 ประเภท คือ ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน (Thai Silk) ประเภทผ้าถุง ชนิดผ้ายก ประเภทลายประยุกต์ และตรานกยูงพระราชทานสีเขียว (Thai Silk Blend) ประเภทผ้าคลุมไหล่ ชนิดผ้า ผ้ายก ประเภทลาย ลายประยุกต์ ชื่อลายแก้วชิงดวง อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่นาหมื่นศรียังได้ปลูกหม่อนผลสด มีปริมาณผลผลิตประมาณ 1,350 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้สุทธิต่อปี จากการขายผลสด 142,800 บาท ต่อปี ไม่นับรวมรายได้จากการทอผ้า