โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 กว่า 2,000 คน และร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยวาจา 39 คน สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินโครงการ ซึ่งข้อคิดเห็นของประชาชนจะนำไปปรับปรุง ร่างรายงานและมาตรการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนต่อไป รายงานข่าวแจ้งว่า นายสุรพล บุรินทราพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 3 ในการทบทวนร่างรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ตั้งแต่เวลา 08.00-15.35 น. มีผู้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จำนวน 2,293 คน โดยมีผู้ลงชื่อแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาจำนวน 39 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบลได้แก่ ต.สบป้าด ต.จางเหนือ ต.นาสัก ต.บ้านดง และ ต.แม่เมาะ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงและประชาชนทั่วไป นายสุรพล บุรินทราพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไปแล้ว ซึ่งมีชาวแม่เมาะรวมถึงประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ในวันนี้ นับเป็นครั้งสำคัญที่ได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลและความจำเป็นในการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงได้แสดงข้อคิดเห็นต่างๆเพิ่มเติมจากครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ให้ครบถ้วนรอบด้าน ขอให้ประชาชนทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เป็นกลาง เป็นประโยชน์ต่อชาวแม่เมาะในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน และเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ดร.เบญจภรณ์ บุณยพุกกณะ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษากล่าวว่า บริษัทร่วมกับ กฟผ. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 3 โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการ ทั้งด้านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น มาตรการป้องกันและแก้ไข รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบ ซึ่งเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบลของ อ.แม่เมาะ ได้แก่ ต.สบป้าด ต.จางเหนือ ต.นาสัก ต.บ้านดง และ ต.แม่เมาะ รวมถึงส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการให้ครอบคลุมครบถ้วน เพิ่มเติมจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมิน EHIA ครั้งที่ 1 เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.ค.62 มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 2,647 คน และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงาน EHIA ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.62 ดำเนินการทั้งหมด 6 เวที มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 1,781 คน โดยการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 3 ในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 2,293 คน สำหรับสิ่งที่ประชาชนยังมีความกังวล เช่น การควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง การดูแลด้านสุขภาพของชุมชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ การบริหารงบประมาณกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า รวมถึงการจ้างแรงงานให้ทำงานใน กฟผ. แม่เมาะ และการสร้างงานให้กับลูกหลานในชุมชน เป็นต้น ซึ่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้ง 3 เวที จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ก่อนนำส่งสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)พิจารณาต่อไป ด้านนางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวว่า ขอขอบคุณชาวแม่เมาะที่ให้ความสนใจมารับฟังและแสดงความคิดเห็นอย่างเนืองแน่น ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 มีความสำคัญในการรักษาระดับกำลังผลิตและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศให้มีความมั่นคง สร้างความเชื่อมั่นโดยเฉพาะด้านการลงทุนในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้กับประเทศ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ตั้งอยู่ที่ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง มีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 660 เมกะวัตต์ สร้างขึ้นเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8-9 ซึ่งมีอายุการใช้งานครบ 30 ปีแล้วตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) โดยโรงไฟฟ้าทดแทนจะมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2569 ทั้งนี้ประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่างรายงานฉบับนี้ได้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 มี.ค.63 โดยส่งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไปที่ 1) E-Mail: [email protected] และ [email protected] 2) โทรศัพท์ไปที่คุณวีณิฐฐา วรเกียรติธนากร และคุณรัตติยา งามประดิษฐ์ โทรศัพท์ 0-2509-9000 กด 2322 หรือ 2315 โทรศัพท์มือถือ 061-564-4480 โทรสาร 0-2509-9047 หรือ ส่งใบแสดงความคิดเห็นไปยัง บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนท์ จำกัด 152 ถนนนวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10230 (ชั้น 13 โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย