เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 นายบุญเสริม ประกอบปราณ แกนนำชาวบ้านเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น พร้อมสมาชิกเครือข่ายได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งรัดกระบวนการคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นและขอให้ลงรับคำขอของคนไทยพลัดถิ่นกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตบันทึกข้อมูล โดยในหนังสือระบุว่าระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม 2563 คณะนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้งอาจารย์และแกนนำของเครือข่ายไทยพลัดถิ่นจะยื่นแก้จำหน่าย แก้การขึ้นทะเบียนผิดหลงกลุ่มและกลุ่มนักเรียนที่พ่อหรือแม่เสียชีวิตหรือพ่อแม่ยังไม่มีบัตรประชาชน โดยจะลงพื้นที่ 3 อำเภอคืออำเภอเมือง อำเภอทับสะแกและอำเภอบางสะพาน นายบุญเสริมกล่าวว่า ที่ผ่านมาการคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นเป็นไปอย่างล่าช้าเพราะมีอุปสรรคหลายประการ เช่น การนัดคิวในบางอำเภอที่ทำได้ยาก บางพื้นที่อ้างว่าเอกสารไม่พร้อม แต่เมื่อไปขอดูเอกสารก็บอกว่าหายไป ซึ่งขณะนี้มีปัญหาคือกรณีของบุคคลที่ถูกจำหน่ายชื่อออก ทั้งๆที่ได้ดำเนินการตามกระบวนการอย่างถูกต้อง ซึ่งเมื่อขอคืนสภาพกลับมีข้ออ้างว่าเอกสารบางส่วนถูกน้ำท่วมและสูญหายไปแล้ว บางส่วนเมื่อยื่นไปแล้วก็ได้แต่รอเพราะไม่ถึงคิวสักที ขณะที่บางส่วนจดทะเบียนผิดกลุ่ม ขณะที่บางกลุ่มยังไม่ได้มีการบันทึก บางกลุ่มเป็นนักเรียนที่มีพ่อแม่ไทยแต่เสียชีวิตไปแล้ว “บางคนพี่ได้บัตรประชาชนแล้ว แต่น้องยังไม่ได้เพราะขึ้นทะเบียนผิดกลุ่มและกลายเป็นคนหลบหนีเข้าเมือง สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้คนไทยพลัดถิ่นอีกนับหมื่นคนยังไม่ได้รับคืนสัญชาติ บางพื้นที่เจ้าหน้าที่ก็มีอคติกับเครือข่ายเพราะไม่สามารถเรียกรับผลประโยชน์ได้ แต่กลับไปบอกนายอำเภอว่าพวกเราไม่ให้ความร่วมมือ”นายบุญเสริม กล่าว ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และคณะกรรมธิการการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อเร่งรัดการคืนสัญชาติไทย โดยระบุว่าเนื่องจาก พรบ.สัญชาติ(ฉบับที่ 5) พศ.2555 ว่าด้วยการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น มีผลบังคับใช้สู่ปีที่ 8 คนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง 7,309 ราย แต่ยังมีคนไทยพลัดถิ่นที่ขึ้นเบียนกับกรมการปกครองอีกกว่า 10,000 คน ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนด แต่ยังไม่ได้รับผลตามกฎหมายเนื่องจากความล่าช้าในการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ ความอคติ การทุจริตคอรัปชั่น ในหนังสือที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาระบุด้วยว่า ข้อเรียกร้องของเครือข่ายคือ 1. เร่งรัดการแก้ปัญหาสัญชาติคนไทยพลัดถิ่นทุกกรณีที่มีนโยบายหรือมีแนวทางปฎิบัติชัดเจน 2.ออกแนวปฎิบัติที่ชัดเจนกรณีแก้ไขกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนนักเรียนให้มีสิทธิยื่นคำขอพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่นได้เองตามกฎหมาย 3.ขยายมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มกราคม 2548 เพื่อสำรวจกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ตกสำรวจเป็นการเฉพาะราย