ฝนหลวงฯ ช่วงชิงสภาพอากาศ เร่งทำฝนช่วยเหลือพื้นที่เกษตร-พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทางภาคใต้ ​​วันที่ 21 ก.พ. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการติดตามอากาศเมื่อวานนี้ พบว่า สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการฝนหลวง ทั้ง 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศ จึงไม่ได้มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยเจ้าหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงมีการติดตามสภาพอากาศทุกวันอย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศเหมาะสมต่อการทำฝน จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและประสบภัยแล้งทันที ​ ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 22 จังหวัด (รวม 128 อำเภอ 676 ตำบล 3 เทศบาล 5,849 หมู่บ้าน) บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ และภาคกลาง ที่จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำเก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 140 แห่ง ประชาชนที่อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำควรที่จะประสานกับกรมชลประทาน เพื่อเป็นการวางแผนใช้น้ำร่วมกันและการลดปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทางการเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.สุราษฎร์ธานี เฝ้าติดตามสภาพอากาศว่าจะปฏิบัติการฝนหลวงได้หรือไม่ ขณะที่ จุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวน 484 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกบางส่วน และภาคใต้บางส่วน จึงส่งให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวรวมถึงบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันลดการเกิดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ โดยงดการเผาทุกชนิดทั้งในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่า สำหรับข้อมูลของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เรื่องปริมาณน้ำฝนรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 14–20 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนปริมาณเล็กน้อย ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะวางแผนช่วยเหลือต่อไป ​ ส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบว่า จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ฝนหลวง ทั้ง 4 ภูมิภาค มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ และความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆต่ำกว่า 60% รวมถึงค่าดัชนียกตัวของอากาศ ไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง (มากกว่า -2.0) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงใน 4 ภูมิภาค จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน โดยจะมีการรายงานของอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ประกอบการตัดสินใจเป็นระยะๆ หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที พื้นที่ภาคใต้ พบว่า จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฏร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ 32% (พนม) 56% (ปะทิว) และความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 23% (พนม) 11% (ปะทิว) ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 2.8 (พนม) -1.2 (ปะทิว) ความเร็วลมที่ระดับการเกิดเมฆ 47 กม./ชม.(พนม) 45 กม./ชม.(ปะทิว) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุราษฏร์ธานี จึงช่วงชิงสภาพอากาศ ปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจที่ 1 ขั้นตอนการโจมตีเมฆ ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค บริเวณ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฏร์ธานี และภารกิจที่2 ขั้นตอนก่อกวน พร้อมกับภารกิจที่3 ขั้นตอนเลี้ยงให้อ้วน ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณจ.สุราษฏร์ธานี และจ.กระบี่ อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ จะติดตามสภาพอากาศทุกวันอย่างต่อเนื่อง และจะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร