จากข้อมูลที่ทางคณะกรรมการด้านสาธารณสุขของจีน (เอ็นเอชซี)รายงานว่า ยอดเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่เป็นต้นตอของการเกิดโรคโควิด-19 ในจีนเพิ่มเป็น 2,112 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ทั่วจีนเพิ่มเป็น 74,534 ราย ซึ่งส่งให้ เศรษฐกิจจีนหดตัวอย่างรุนแรง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกก็จะมีมากขึ้น และการดิ่งลงของความเชื่อมั่นของนักลงทุน และจากการที่ “นางคริสตาลินา จอร์จีวา” ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ข้อมูล ถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ว่า ถือเป็นความไม่แน่นอนที่กำลังส่งแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุด โดยไวรัส ดังกล่าวจะชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ และระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับการที่ผู้นำของโลกจะร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเพียงใด ขณะที่ “นักวิเคราะห์” จากหลายสถาบัน ได้ออกโรงเตือนรัฐบาลประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน ให้เตรียมใจรับแรงกระแทกจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) โดยคาดว่าจะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียนปีนี้ ต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดจากวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนา มีจุดศูนย์กลางที่เมืองอู่ฮั่น ของจีนเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คือจำนวนนักท่องเที่ยวจีนหลายล้านที่หายไป เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางในจีน และคำสั่งห้ามนักเดินทางจีนเข้าบางประเทศ รวมถึง นโยบายของทางสายการบินทั่วโลกที่สั่งระงับเที่ยวบินราว 25,ooo เที่ยวผ่านจีนเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักสำคัญของหลายประเทศ อย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นอย่างมาก จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า เศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากจีนมายังอาเซียนในอัตราส่วนที่สูงที่สุด เนื่องจากมูลค่าการลงทุนโดยตรงมักมีความผันผวนอย่างมากไปตามเศรษฐกิจของประเทศ โดยหาก GDP ของจีนเติบโตลดลงร้อยละ 1.0 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากจีนไปยังอาเซียนคาดว่าจะลดลงถึงราวร้อยละ 2.8 ขณะที่ รายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและมูลค่าการส่งออกไปยังจีนของอาเซียนจะลดลงประมาณร้อยละ 1.5 และ ร้อยละ 1.2 “นายดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 เป็นปัจจัยใหม่ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย โดยจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการฯ ได้ประเมินข้อมูล โดยขณะนั้นพบว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมมาก คณะกรรมการฯ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องรอตัวเลขทางการจากสภาพัฒน์ ทั้งนี้ ธปท.จะมีการประมาณการเศรษฐกิจไทยชุดใหม่ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยในระหว่างนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เบื้องต้นคาดว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจะรุนแรงที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนที่จะทยอยปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดยเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเกินร้อยละ 3 ได้อีกในปี 2564 หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติม “รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา สูงที่สุด เนื่องจากไทยพึ่งพาทั้งนักท่องเที่ยวจีนและตลาดส่งออกจีน จึงฟันธงว่าไวรัสโคโรนานี้จะส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าโรคซาร์ส ในปี 2546 ที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจและสัดส่วนต่อ GDP โลก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกน้อยกว่านี้ “คาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวโดยรวมหายไปอย่างน้อย 0.5-1% ส่งผลให้รายได้ทางการท่องเที่ยวไทยหดตัวประมาณ 4.1-8.2% คิดเป็นมูลค่าราว 75,000-150,000 ล้านบาท โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคใต้ และภาคตะวันออก” นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากที่สุด คือ ธุรกิจช็อปปิ้ง โรงแรม และอาหารเครื่องดื่ม รวมถึงจะทำให้การจ้างงานหายไป ประมาณ 0.5-1% ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ประมาณ 180,000-500,000 คน และเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะกระทบต่อ GDP ราว 0.5-1% คิดเป็นมูลค่า 79,300-238,000 ล้านบาท และกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมตั้งแต่กลุ่มท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคการเกษตรด้วย จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องนำไปเป็นการบ้านในการหาแนวทางที่จะพยุงเศรษฐกิจไทยให้ยืนรอดพ้นวิกฤติ “ไวรัสโคโรนา”ให้ได้ เป็นการวัดฝีมือ “ทีมเศรษฐกิจพรรคการเมืองผสม” ที่ต้องร่วมมือพาเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นไปได้ ถ้ายังต้องการที่จะยึดพื้นที่บริหารประเทศไปนานๆ!