ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ชีวิตเริ่มปลูกสร้างผลิตผลแห่งจิตวิญญาณมาแต่แรกเกิด...แท้จริง...ความหมายแห่งการดำรงอยู่ที่แท้จริงเป็นเช่นนั้น มันคือรากเหง้าของการรับรู้อันเป็นนัยสำคัญต่อการก้าวย่างที่จะมาถึง/แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น..ชีวิตย่อมมีแบบเรียนต่อการเรียนรู้เสมอ..มันคือรูปรอยอันสำคัญต่อกระบวนความคิดของตัวตน ผ่านความรู้สึกแห่งเจตจำนงอันลึกซึ้ง /ซึ่งถือเป็นแก่นสารสำคัญ/..ที่มนุษย์ทุกคนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงสู่หัวใจได้อย่างแยบยลและแนบสนิท.. .....นั่นเพราะ เมื่อ ทุกสิ่งได้แนบสนิทกับหัวใจแล้ว/ความว้าเหว่ก็จะถูกขับออกไป/จนไม่มีพื้นที่และเวลาในนั้น” บริบททางความคิดดังกล่าวนี้...คือ/หมุดหมายแห่งความหมายของหนังสือแห่งปัญญาญาณที่มีคุณค่าของ.. “ท่านเขมานันทะ” ..นักเขียนและศิลปิน ผู้มีผลงานในเชิงธรรมทัศน์ที่หลากหลาย/...อันเป็นบทบันทึกจากใจสู่ใจในนาม “ก่อนฤดูเก็บเกี่ยวมาถึง”/ หนังสือเล่มเล็กที่รวมทั้งภาพปริศนาธรรมกับบทกวีจากบันทึกส่วนตัวและถ้อยคำแห่งความหวังที่ก่อให้เกิดแนวคิดอันเป็นคุณประโยชน์ต่อผู้อ่าน...ด้วยความหวังตั้งใจที่ถูกจารจารึกเอาไว้ว่า... “เมื่อผมตายไปแล้ว...ผมจะมีชีวิตอยู่ในตัวหนังสือ..” “เมื่อผมตายไปแล้วจากชีวิตนี้/ผมจะมีชีวิตอยู่ในตัวหนังสือ/ทุกประโยค ทุกพยางค์จะพูดแทนผม/...หากว่าหนังสือไม่ทำกิจนั้น...ก็ปล่อยให้ความตายลบทุกสิ่งที่หนังสือพูดถึงทั้งหมด/ให้มันหายไปดีกว่า...จะอยู่โดยไม่พูดถึงหนังสือธรรมะ/..ของสิ่งที่หนังสือหรือถ้อยคำไม่อาจเอื้อมถึงได้/พูดถึงสิ่งที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้เป็นส่วนของความสุข/ที่ผมพอจะมีให้แก่กันและกันกับเพื่อนร่วมภาวนา” นัยแห่งการภาวนาถูกยกมาเกี่ยวเนื่องกับหนังสือเล่มนี้อย่างพินิจพิเคราะห์/มันคือแรงผลักดันสู่ความเชื่อมั่นต่อองค์พระศาสดาในวิถีแห่งพุทธะ/ที่ปลอดพ้นความน่าเบื่อหน่ายต่อความเป็นมนุษย์ที่แท้/ซึ่งในแก่นแท้นั้นหาได้มีอะไรที่จีรังยั่งยืนแม้เพียงนิด...แต่การณ์กลับกันหากเข้าใจในความเป็นมนุษย์ผ่านความเป็นสามัญธรรมดา...ก็ย่อมจะสามารถบรรลุข้อตระหนักที่สามารถเจริญงอกงามในธรรมได้... “เป็นคนธรรมดา.ไม่ปรารถนาสิ่งใดเกินจำเป็น/จริงใจต่อองค์พระศาสดา/รักศรัทธาคงมั่น...ไม่นึกหมิ่นแคลนหรือจาบจ้วงหยาบคาย/จริงใจในผู้ร่วมทุกข์/เกิด แก่ เจ็บตาย นึกถึง มีสติเป็นไป/ในความอยู่รอดของสรรพสัตว์เสมอ/เหตุนี้..จึงไม่มีอัจฉริยะ/...มีแต่คนธรรมดาเท่านั้นที่งอกงามในธรรม” คำอธิบายในธรรมของท่าน “เขมานันทะ” ที่ปรากฏชัดเป็นรากแก่นของหนังสือเล่มนี้/..คือการสอนในวิถีแห่งความตระหนักรู้ที่เน้นย้ำถึงว่า...โลกนั้นได้เคลื่อนไหวอยู่ในจิตวิญญาณและ/ครั้นเมื่อวิญญาณถึงจุดสิ้นสุด...โลกก็สิ้นสุด/ครั้นวิญญาณดับ..โลกก็ดับ.. ประเด็นสำคัญตรงส่วนนี้มีค่าในเนื้อแท้ในวิถีแห่งโลกอันน่าใคร่ครวญที่ว่า... “วิถีโลกเติมไม่มีวันเต็ม /วิถีธรรมไม่ต้องเติมก็เต็มในตัวเอง/ญาณหยั่งรู้ทุกข์/รู้ว่าจะผ่านทุกข์ไปสู่นิโรธของทุกข์/เพราะยึดว่า..ฉันกำลังทุกข์..จึงไม่ผ่าน/เมื่อนึกถึงญาณ ญาณก็มา/หยั่งรู้อิสรภาพ .... อิสรภาพก็มา /ทุกสิ่งสำเร็จอยู่แล้วแต่เดิมที” นี่คือภาวะแห่งการขยายความถึงอุบัติการณ์แห่งการก่อเกิด..มันอยู่ทั้งระหว่างและท่ามกลางปริศนาแห่งรูปลักษณ์ต่างๆของโลกอันหลากหลาย/เป็นปริศนาต่อการขานไขสู่ถนนแห่งการหยั่งรู้ทางจิตวิญญาณ./ต่อคำถามที่ว่า..สิ่งต่างๆในโลกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?../เพราะมันมีสถานะราวกับผู้ออกแบบเอาไว้/...เพียงแต่มันยังไม่บรรลุมโนคติในรูปลักษณ์/...เป็นปริศนาแก่ผู้เดินทางทางวิญญาณ/รูปลักษณ์นั้นมีหลากหลายทั้งสิ่งที่ค้ำจุนชีวิตและสิ่งมีชีวิต..”ฟังเสียงเรียกร้องต้องการ จากทางฝ่ายจิตวิญญาณให้มากขึ้น/ลด ละ ความต้องการเสพวัตถุทั้งภายนอกและภายใน/...อย่าเสพวัตถุ อย่างไร้สติ” ข้อย้ำเตือนนี้..จะแสดงถึงข้อรู้เห็นแห่งความเป็นคนอย่างถ่องแท้..ยิ่งในห้วงขณะที่การภาวนามาถึง/...ก็ย่อมจะทำให้ชีวิตได้มีโอกาสรู้เห็นธรรมะในคนและสรรพสิ่งเพราะ...คนคือสรรพสิ่ง/”ท่านเขมานันทะ”...ได้อ้างถึงบทกวีของกวีเอกแห่งแผ่นดิน”อังคาร กัลยาณพงศ์เอาไว้อย่างเชื่อมโยงว่า.. “ฉันไม่ได้ทำชีวิตให้หายไปครึ่งหนึ่ง /ดังบทกวีของ อังคาร กัลยาณพงศ์/แต่มันหายไปทั้งหมดจนน่าตกใจ/แสงเทียนในวาระสุดท้าย/ทุกขณะนาทีของชีวิต(การรู้เห็น การเปลี่ยนแปลง)/เมื่อได้รับการปลดปล่อย มันก็คิดนึกอย่างเสรี/ราวกับปีกนก โผบิน อย่างอิสระ” โครงสร้างแห่งความเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณในลักษณะนี้...ล้วนมีที่มาจากการหยั่งเห็นถึงความจริงในเชิงประจักษ์/มันคือมโนคติที่ “ท่านเขมานันทะ” ได้อธิบายว่า..แท้จริงแล้ว มันคือความปรารถนาที่จะรวมกับสิ่งสูงสุด/และแม้เมื่อถูกกางกั้นด้วย อาสวะ/ความรัก ความไร้ราคี/ความจริงของอริยสัจ/ความเมตตาปรานี/..หากเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่างๆ...ความไม่รู้ไม่เห็นอาการเหล่านี้..ด้วยการอำพรางตัวเองไว้/ครอบงำตัวเองไว้/แล้วดิ้นรนแสวงหา อิสรภาพจากน้ำมือตนเอง/สร้างคุกขังตัวเอง/เป็นนักโทษขังตัวเองตลอดเวลาที่แล้วมา “ครั้นเมื่อเข้าใจภาษาแห่งวิญญาณแล้ว...ทุกสิ่งจึงจะดี” ประเด็นสำคัญในอีกมิติหนึ่งที่ถือเป็นการเตือนมโนสำนึกให้แม่นตรงและไม่แกว่งไกวที่ “ท่านเขมานันทะ” ได้...เน้นย้ำให้จดจำและฝึกปฏิบัติอยู่เสมอ/ก็คือการตักเตือนทุกๆชีวิต..ในการไม่ให้ไปไขว้คว้าหาสิ่งที่ไม่มี และสิ่งที่ไม่เคยมี../เนื่องเพราะ...จริงๆแล้ว “ความสงบที่คนมุ่งหมายนั้นไม่เคยมี/คุณกำลังมุ่งหาสิ่งไม่มี/เพราะเหตุที่ได้สร้างเรื่องขึ้นมาเองอันหมายถึงกรรม/หลังการไขว้คว้าจนเร่าร้อน/แล้วสำคัญว่ามีความสงบที่ดับร้อนได้/แล้วกระทำความสงบให้บังเกิดมี/บดบังความสงบที่เป็นรากฐานของชีวิต...อันไม่มีใครสร้างหรือทำลายมันได้” ดั่งนั้น..เราจึงได้ข้อรู้เห็นทางใจที่แจ่มชัดว่า/สำหรับปุถุชนแล้ว...จงขับเคลื่อนชีวิตด้วยพลังแห่งเมตตา..เฝ้าระวังจิตใจของตน ให้ห่างจากรักหรือชัง/ระวังจิต ระวังความยึดติดที่มันหวั่นไหวไปทางรักหรือชัง/ปกป้อง ปิดกั้นจิตใจตนให้จงดี/อย่าประมาท...แม้ความคิดนิดเดียว../นั่น..จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ภาวนาที่แท้...ไม่ใช่เป็นเพียงท่าที “เพราะไม่ถอนหญ้าคาเสียแต่ต้นมือ นาเราเลยรกเรื้อ/ยากจะจัดการได้โดยง่ายฉันใด/ปกป้องรื้อถอนสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาอันเป็นอันตรายต่อมรรคผลเสียแต่เนิ่นๆจึงจะดี” ปฏิกิริยาทางความคิดของท่าน “เขมานันทะ” /ล้วนมีพลังต่อการขบคิด...ในการปลูกสร้างอนาคตด้วยหน่อเชื้อแห่งกล้าพันธุ์ทางจิตวิญญาณที่โลดทะยานไปสู่แผ่นพื้นที่สามารถสร้างคุณค่าต่อโลกทางปรากฏการณ์ที่เปิดเผยถึงสภาวธรรมได้อย่างหมดสิ้น โดยเฉพาะต่อดวงจิตที่เปิดแล้ว/โดยไม่มีสภาพเร้นลับอำพรางใดๆ/เพียงแต่ความไม่รู้จักเป็นเหตุให้มุ่งปรารถนาอันผิดไปจากอันนี้/ถ้าว่าไม่ปรารถนาอะไรอื่นใดอีกแล้ว/การเปิดเผย...ก็อยู่เบื้องหน้านี้เอง...ไม่มีอะไรมากกว่านี้...ไม่เคยมีและจะไม่มีอีก/การสิ้นชาติขาดเชื้ออยู่ตรงนี้/มันไม่อาจสิ้นเชื้อโดยการเพิ่มเชื้อปรารถนาให้ผิดไปจากสภาพความเป็นเช่นนั้นไปได้/ไม่มี ไม่เคยมีและจะไม่มี/ตามความยึดถือ ให้มีแล้ว ไม่เคยมี/ให้มีอีก/ทรรศนะเหล่านี้ล้วนเป็นอุปทานเอาเองทั้งสิ้น..เหตุนี้จึงได้มีคำอธิบายถึง ความบริสุทธิ์ใจในการสงเคราะห์ ..อนุเคราะห์ผ่านสำนึกแห่งการรับและการให้ออกมา..อย่างชวนรับฟังและนำไปสู่การชั่งใจหมายรู้ต่อการค้นพบในชีวิตยิ่ง... “ผมค้นพบว่า...การรับรู้นั้นอยู่ต่ำกว่าการให้/เว้นแต่การรับเยี่ยงอริยะ จึงทัดเทียมกับการให้อย่างบริสุทธิ์ใจในการสงเคราะห์/อนุเคราะห์..ให้เบาโปร่งกว่าการรับ...รับนั้นหนักอึ้ง..เว้นไว้แต่รับเป็นทานแก่สรรพสัตว์/จึงจะพ้นมลทิน/รับประทานคือรับประทาน/นั่นหมายถึง...การให้สิ่งที่ดีย่อมประสบสิ่งที่ดีเสมอ/และยิ่งกว่านั้น..การให้สิ่งที่ดีนั้น...จักดีเบ็ดเสร็จทันทีที่ให้../มันคือการสละความตระหนี่/ความสุขจึงปรากฏในขณะแรกดำริจะให้/จะเอานั้นมืด ตกต่ำ เมื่อโลภ แย่งชิง ฉกฉวยโอกาส หมิ่นเหม่เป็นเดรัจฉาน” จากศิลปินสู่พื้นที่แห่งธรรมะ/ความเป็นศิลปะตลอดจนแนวคิดในเชิงศิลปะ จึงสามารถแปรค่าเป็นภาษาจากใจ..ที่กระทบความรู้สึก/...ความรู้สึกต่อห้วงเวลาที่เปลี่ยนไป/อันไม่รู้สึกกระวนกระวายรอคอยอะไรดังเก่า./ความรู้สึกในมิติที่คลี่คลายนี้ ทำให้การดำรงอยู่แปรเปลี่ยนไป/...ไม่ปรารถนาอะไรรุนแรง/จนต้องดิ้นรนแสวงหาล่าเหยื่อและกระทบกระทั่ง...นั่นถือเป็นวิถีตระหนักอันสำคัญต่อความมี/ความเป็นที่นำไปสู่ความสุขสำเร็จในที่สุด.... “แม้คุณปรารถนาจะอยู่อย่างสงบสันติ/พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่/แต่ก็หาพ้นจากการก่อกวนของความคิดนึกอยู่ดี/แม้คุณจะพยายาม “อวดอ้าง” ความสงบ สันติ ความสุข เมตตาฯลฯ/ทั้งหมดเป็นเพียงบทเพลงทุกข์ท่อนใหม่/ที่มาอวดโฆษณาตนเองอย่างแยบยล/ทั้งได้จากการตบตาตนเองและบรรดาสาวกทั้งหลาย..และคงมีหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการนั้น” ทั้งหมดทั้งสิ้นที่ปรากฏ..เป็นปรากฏการณ์ของหนังสือเล่มนี้ อันเปรียบเสมือนตะเข็บแห่งรอยต่อของชีวิต/ที่เหมือนจะสรุปสัจจะออกมาได้ว่า..ไม่ว่าจะเป็นชาตินี้หรือชาติไหน ก็ทุกข์และดิ้นรนอยู่เสมอ..เจตจำนงอันประเสริฐของท่าน “เขมานันทะ” ต่อการตั้งกองทุน..เพื่อสร้างคุณประโยชน์ก่อนที่วารวัยของชีวิตจะล่วงลับ..จนนำมาสู่การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายสุดของชีวิต...ขณะที่กายร่างเจ็บป่วย/แต่หัวใจของท่าน ก็สามารถเขียนสารแห่งเจตจำนงของผลรวมทางความคิดของหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ.. “ก่อนจะตาย เราควรฝากของขวัญอะไรไว้ให้ลูกหลาน ต้องตรองซะในวันนี้/วันพรุ่งนี้เรารู้ไม่ได้ว่าความผันผวนแปรปรวนของสังคมเป็นอย่างไร/เรารู้ได้แต่ความตั้งมั่น/เดินทางไกล...อนุชนรุ่นหลังล้วนมีความหวังอันเดียวกัน แม้จะต่างชาติ ต่างศาสนา” ท้ายที่สุดแล้ว “ก่อนฤดูเก็บเกี่ยวมาถึง” คือหนังสือที่สามารถอ่านใจตนเองด้วยหัวใจ/เป็นหนังสือที่สามารถชำระล้างโครงสร้างของตัวตนให้สะอาด/ไม่ใช่ไปเพิ่มความสกปรกให้มากยิ่งขึ้น/..เป็นหนังสือที่เสริมส่งให้ผู้อ่านได้สัมผัสต่อการปฏิบัติภาวนาเพื่อความคลี่คลาย..ไม่ใช่เครียด/เพื่อให้พ้นผ่านไม่ใช่เพื่อยึดติด.../ทุกสรรพสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นเป็นความเคลื่อนไหวนานาทั้งมวล/ล้วนเป็นไปด้วยอำนาจของความรัก/ภายใต้ข้อคำถามที่ว่า..ในฐานะที่ชีวิตเปรียบดั่งพืชผลที่ต้องเก็บเกี่ยวด้วยหัวใจ/แล้วหัวใจของเรา...ได้พร้อมที่จะขานรับเสียงกระซิบอันก้องดังภายในใจของตัวเองแล้วหรือยัง... “ด้วยอำนาจของความรัก/บุคคลเข้าใจในสิ่งที่เข้าใจยากได้โดยง่าย/เหตุเพราะเพียงสังเกตอย่างง่ายๆ/ก็แลเห็นความงามอย่างลึกซึ้งของใจตน/หยั่งลึกลงไปในใจตนด้วยความรักและซาบซึ้ง...จึงจะสามารถบรรลุถึงกุศลแห่งจิตเดิมแท้ได้...และย่อมจะบรรลุ ถึงวาระแห่งการสิ้นสุดการคาดเดาต่อตัวเอง อันนำความสิ้นสงสัยในโลก..ชีวิต/อันตัวเองเกี่ยวข้องอยู่..ทั้งในความมืดและความสว่าง....”..ด้วยดุจเดียวกัน!