เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 พลตรี กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ ผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบที่ 3 ร่วมงานวันรำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อ เพื่อรำลึกวีรกรรมแด่วีรชนผู้กล้าหาญ และเสียสละต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมี พลเอกสาธร สุวรรณภา เป็นประธาน มี พลตรี จิรเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ข้าราชการ ตุลาการ อัยการ ทหาร ตำรวจ ราษฎรอาสา และประชาชน เข้าร่วมพิธี บริเวณอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ กิจกรรมในวันนี้ มีพิธีวางพวงมาลา เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่านักรบผู้กล้า พิธีสงฆ์ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ มีข้าราชการทหาร ตำรวจ อดีตนักรบผู้กล้าและครอบครัว ญาติพี่น้องของเหล่าวีรชน เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่วีรชนผู้กล้าหาญ เสียสละ อันได้แก่ พลเรือน ทหาร ตำรวจ ร่วมผนึกกำลังต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในพื้นที่รอยต่อสามจังหวัดคือ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก และ จังหวัดเลย โดยเริ่มการสู้รบตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2511 จนกระทั้งประสบชัยชนะ และยุตติการต่อสู้ด้วยอาวุธในปีพุทธศักราช 2525 และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน มาเป็นองค์ประธานเปิดอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ จึงได้กำหนดให้วันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงวีรชนผู้กล้าหาญและจัดให้มีพิธีรำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้อนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อ สร้างด้วยหินอ่อนรูปทรงสามเหลี่ยม ทุกตารางนิ้วของอนุสรณ์ผู้เสียสละเขาค้อที่สร้างขึ้น ทั้งความกว้าง ยาว สูง และรูปทรง ล้วนแล้วแต่มีความหมายทั้งสิ้น รูปทรงสามเหลี่ยม หมายถึง การปฏิบัติการร่วมกัน ระหว่างพลเรือน ตำรวจ ทหาร ฐานอนุสรณ์สถานกว้าง 11 เมตร หมายถึง พ.ศ.2511 อันเป็นปีที่เริ่มการปฏิบัติการรุนแรงของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นี้ ความสูงของแท่นบูชาถึงยอดอนุสรณ์สถาน 24 เมตร หมายถึง พ.ศ. 2524 อันเป็นปีที่เปิดยุทธการครั้งใหญ่ ความสูงจากฐานถึงยอดอนุสรณ์สถาน 25 เมตร หมายถึง พ.ศ. 2525 อันเป็นปีที่สิ้นสุดการต่อสู้ด้วยอาวุธ ความกว้างของฐานสามเหลี่ยม ด้านละ 2.6 เมตร หมายถึง พ.ศ. 2526 อันเป็นปีที่เริ่มการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้