ความสำเร็จของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5 จีไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สามารถประมูล 3 คลื่นหลัก คือ 700 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz),2600 MHz และ 26 กิกะเฮิร์ตซ (GHz) ออกไปได้ถึง 48 ชุดจาก 49 ชุดที่นำออกประมูลสร้างเม็ดเงินรายได้เข้ารัฐกว่า 100,521 ล้านบาท ถือเป็นการลบคำสบประมาทก่อนหน้าที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลจนประมูลออกไปได้สักกี่มากน้อย หลังบริษัทสื่อสารน้อยใหญ่แสดงท่าทีอิดออดไม่อยากเข้าร่วมประมูล บ้างเสนอให้เลื่อนออกไป่ก่อน เพื่อรอให้ กสทช.เคลียร์หน้าเสื่อคลื่น 2600 MHz และ 3500 MHz ให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยจัดประมูลไปพร้อมในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า ทั้งนี้ กสทช.ยืนกรานต้องเร่งจัดประมูลไปตามกำหนดเดิม ด้วยหวังจะให้ประเทศไทยเปิดบริการ 5 จีในเชิงพาณิชย์เป็นประเทศแรกในในภูมิภาคนี้ ซึ่งผลการประมูลที่ได้ไม่ได้สร้างความผิดหวังเพราะไม่เพียงจะกวาดเม็ดเงินรายได้เข้าคลังได้ทะลุแสนล้าน เผลอๆ 5 จีพี่ไทยจะปาดหน้าให้บริการเชิงพาณิชย์แซงจีน-และญี่ปุ่นไปด้วยซ้ำ แม้ผลงานชิ้นโบแดงของ กสทช.ครั้งนี้ จะทำเอา กสทช.หน้าบานเป็นจานกระด้ง แต่สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่าง บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)หรือ “แคท” ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ส่งเข้าร่วมประมูลและสามารถคว้าคลื่น 5 จีติดไม้ติดมือกลับมาตามเป้าหมายนั้น สำหรับผู้คนในวงการโทรคมนาคมแล้วต่างกำลังมองว่า คลื่น 5 จีที่2 หน่วยงานประมูลได้ไปครองอาจไม่ได้ทำให้ศักยภาพของสองรัฐวิสาหกิจกระเตื้อง หรือผงาดขึ้นมาเป็นธุรกิจโทรคมนาคมชั้นแถวหน้าอะไร ตรงกันข้ามอาจเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้สองหน่วยงานที่กำลังอยู่ในกระบวนการควบรวมกิจการต้องแบกภาระการถือครองคลื่นเกินความจำเป็น ปัจจุบันทั้งทีโอที และแคทเทเลคอมที่กำลังอยู่ในกระบวนการควบรวมกิจการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ(NT) ซึ่งผลพวงจากการควบรวมกิจการจะทำให้ NT มีคลื่นในมือไม่น้อยกว่า 3 คลื่นคือคลื่น 2100 ,2300 จากมือทีโอที และคลื่น 850 MHz จากแคทเทเลคอม ที่สามารถจะให้บริการไปจนถึงปี 2568 อยู่แล้ว โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องไปสะสมคลื่นใหม่ให้เป็นภาระอีก ทั้งนี้สิ่งที่ 2รัฐวิสาหกิจและดีอีเอส ควรดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ไม่เพียงแต่ในเรื่องของการเร่งแผนควบรวมกิจการที่ทำยังไงจะไม่ล้มเหลว อะไรจะเป็นธุรกิจหลักเป็น Core business ที่ตนเองถนัดและยังพอจะทำมาหากินในระยะยาวต่อไป ทั้งในส่วนของ บริษัททีโอที และ กสท โทรคมนาคม โดยที่ผ่านมาทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดีเมื่อ 5 จีเปิดให้บริการอย่างเค็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่มือถือธรรมดาๆหรือสมาร์ทโฟนอย่างที่เราคุ้นเคยกันอีก แต่จะเข้ามาแทนที่คน แทนที่ระบบต่างๆที่เราคุ้นเคยอยู่ จนถึงขนาดที่ผู้คนคาดการณ์กันว่าต่อให้เป็นแบงก์ สาขาแบงก์ โมเดิร์นเทรด หรือห้างสรรพสินค้าอาจสูญพันธ์หายวับไปกับตา ดังนั้น 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต้องปรับตัวรับมือให้ได้