อำเภอจอมพระเมืองเก่า เล่าลือปราสาทหิน ถิ่นวัฒนธรรม เลิศล้ำผ้าไหม สะอาดสายลำน้ำชี เกษตรอินทรีย์เป็นเลิศ ก่อเกิดข้าวหอมมะลิ เป็นคำขวัญของอำเภอจอมพระ หนึ่งใน 17 อำเภอ ของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีพื้นที่ 429 ตารางกิโลเมตร ประชากร 6 หมื่นคนเศษ ใน 9 ตำบล 72 หมู่บ้าน เติมในเขตการปกครองของอำเภอท่าตูม ต่อมายกฐานะตั้งเป็นกิ่งอำเภอจอมพระปี 2502 จากนั้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 ได้มีพระราชกฤษฎีกา ให้ยกฐานะเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอจอมพระ ที่มาของชื่อจอมพระ ไม่สามารถค้นหาหลักฐานอ้างอิงได้แน่นอน เป็นแต่เพียงตำนานของชาวบ้านเล่าขานสืบต่อมาว่า เมื่อประมาณ 329 ปีเศษ มีชนเผ่าหนึ่ง ขนานนามตนเองว่า “ส่วย” อพยพมาจากเมืองอัตตะปือแสนปาง มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในแถบนี้ โดยได้พบปราสาทหินศิลาแลง ซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน เมื่อได้พบสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพบูชา ชาวบ้านจึงขนานนามชื่อหมู่บ้านจอมพระ ปราสาทหินดังกล่าว ปัจจุบันถือว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอจอมพระและจังหวัดสุรินทร์ นายวรชัย ศรีสุวรรณวัฒนา นายอำเภอจอมพระ กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ ชาวอำเภอจอมพระ ทุกตำบลร่วมกันจัดงาน “มหัศจรรย์ของดีวิถีจอมพระ บวงสรวงปราสาทเก่า เล่าขานประเพณีวิถีจอมพระ ซึ่งเป็นงานประจำปีที่รวบรวมประเพณีศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวจอมพระ” ซึ่งประกอบ ด้วย 5 ชนเผ่า ได้แก่ ไทย เขมร กูย จีน และลาวอีสาน เป็นการรวมอัตลักษณ์เด่นของคนในพื้นที่ มาร่วมในขบวนแห่ ซึ่งประกอบไปด้วย ขบวนแห่ปราสาทเก่าจอมพระ ขบวนผ้าไหม ขบวนข้าวหอมมะลิ และขบวนชนเผ่า 5 ชนเผ่า ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตชุมชน นอกจากนี้ยังมีการนำผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชนคลังสินค้า OTOP สินค้าอินทรีย์ นำมาแสดงและจำหน่ายให้ผู้ร่วมงานได้จับจ่ายและได้เที่ยวชม ส่วนภาคกลางคืน จะมีการแสดงแสงสีเสียงปราสาทจอมพระอโรคยา ซึ่งเป็นการการเล่าถึงประวัติความเป็นมาของปราสาทจอมพระ การเดินแบบผ้าไหม การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านของแต่ละตำบลทั้ง 9 ตำบล จึงเชิญชวนชาวสุรินทร์ จังหวัดใกล้เคียง ผู้สนใจไปเที่ยวงาน “มหัศจรรย์ของดีวิถีจอมพระ บวงสรวงปราสาทเก่า เล่าขานประเพณีวิถีจอมพระ วันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2563”