คลังเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนคาดเศรษฐกิจไทยฟื้น มิ.ย.-ก.ค.หากไวรัส COVID-19 คลี่คลายพร้อมออกมาตรการกระตุ้นทันที มั่นใจพร้อมใช้งบปี 63 ทันที่พ.ร.บ.มีผล เร่งอัดเม็ดเงินลงทุนรัฐ-รัฐวิสาหกิจ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังพบนักลงทุน เพื่อชี้แจงทิศทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก โดยยังต้องติดตามเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน ไวรัสโควิด-19 คาดหวังว่าจะหยุดการแพร่ระบาดได้ในอนาคต และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงมิ.ย.-ก.ค.63 ซึ่งในช่วงนี้จะต้องดูแลไม่ให้เศรษฐกิจถูกกระทบมากเกินไป และสิ่งที่สำคัญที่ต้องดำเนินการคือ การเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ ทั้งนี้หลังจากได้พบนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันในประเทศในช่วงเช้าวันนี้ มีประเด็นที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันในประเทศกังวลมากที่สุดคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันที่กระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง ซึ่งภายหลังจากที่กระทรวงมหาดไทยประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งออกมาแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลมีแผนจะออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในประเทศ จึงมองว่าหากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.63 โดยกระทรวงการคลังเห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้มีผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยด้วย หลังจากนี้จะมีการออกมาตรการที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการอุปโภคและบริโภค และสร้างความมั่นใจของนักลงทุนให้ฟื้นกลับมา ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรที่จะออกมาเพิ่มเติมอีก เพื่อช่วยเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งทั้ง 2 มาตรการเป็นสิ่งที่นายกฯให้เร่งเดินหน้าช่วยเหลือและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยนายกฯเน้นย้ำว่าจะต้องเร่งดูแลผลกระทบในระยะสั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้ ขณะที่ระยะยาวยืนยันว่าจะเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ และการปฏิรูปประเทศไปควบคู่กันอย่างแน่นอน สำหรับแนวทางการบริหารงบประมาณปี 63 ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางเตรียมพร้อมการเบิกจ่ายทันทีหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้ โดยมีวงเงินรายจ่ายอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 6.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะสามารถอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบมากกว่า 4 แสนล้านบาทภายในไตรมาส 2/63 เนื่องจากเป็นโครงการที่เตรียมพร้อมแล้ว 3.5 แสนล้านบาท และทำ TOR แล้วอีก 9.6 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 2.4 แสนล้านบาทอยู่ระหว่างการทำ TOR คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการ 45-50 วัน เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบได้ในช่วงไตรมาส 2/63 ถึงไตรมาส 3/63 โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเร่งขับเคลื่อนการลงทุนให้ได้มากที่สุด “สำนักงบประมาณเชื่อว่างบประมาณปี 63 จะสามารถเบิกจ่ายได้มากกว่า 80% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้จะมีเวลาการเบิกจ่ายจำกัดเพียง 6 เดือนในปีงบประมาณนี้ โดยไตรมาส 3/63 คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ถึง 77% ของงบประมาณทั้งหมด ด้านการลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้งปีอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ภายในเดือน มี.ค.นี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนราว 1 แสนล้านบาท และทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้มากกว่า 80%” นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า หลังนักลงทุนได้ฟังคำชี้แจงถึงแนวทางดูแลเศรษฐกิจและมาตรการที่จะทยอยออกมาหลังจากนี้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามผลจากการใช้มาตรการว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ในส่วนของการลงทุนในตลาดขณะนี้ที่มีความซบเซา เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลปัจจัยลบระยะสั้นมากเกินไป ทั้งเรื่องภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม มองว่ายังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการพยุงตลาดหุ้น เพราะมองว่าดัชนีลงไปสู่จุดต่ำสุดแล้ว และเชื่อว่าดัชนีจะเริ่มทยอยดีดตัวกลับขึ้นมาได้ ช่วงนี้ราคาหุ้นลงจึงเป็นจังหวะที่เหมาะเข้าไปลงทุน