วันนี้ (20 ก.พ.63) ที่ห้องรับรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ต้อนรับ นายโมฮัมหมัด นาซิรี ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Woman) สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก พร้อมคณะ ในโอกาสเดินทางเข้าพบผู้บริหาร ศอ.บต. เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของผู้หญิงในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ร่วมให้การต้อนรับคณะ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. ไม่ได้เพิกเฉยต่อการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มผู้หญิงและเด็ก โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรี (ศป.ดส.) ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับเกียรติจาก พณฯ ท่าน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฯ ดังกล่าว เมื่อกลางปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งภารกิจหน้าที่ของศูนย์ประสานงานสตรีและเด็ก สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมิติความมั่นคงและการพัฒนา โดยการสร้างความเสมอภาคทางด้านสิทธิและเสรีภาพแก่เด็กและสตรี รวมไปถึงการสร้างโอกาสทางสังคม ทั้งนี้ ศอ.บต. จะพยายามทุกวิถีทาง เพื่อที่จะผลักดันคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้อยู่ดี กินดี และเป็นสุข โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการศึกษา การสร้างรายได้ และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมและการสร้างรายได้ ด้านนายโมฮัมหมัด นาซิรี ผู้อำนวยการ Un Women สะท้อนถึงความตั้งใจและยินดีในการให้ความร่วมมือกับ ศอ.บต.ในการสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของสตรี และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแก่เด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือและให้ความร่วมมือทางด้านแหล่งทุนหรือปัจจัยอื่นๆ รวมไปถึงการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมสร้างโครงการนำร่อง (Pilot Project) ที่จะเป็นตัวอย่างของวิธีการทำงานที่ดีที่สุด (Best Practice) แก่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน หรือกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น กลุ่มบังซาโมโร ซึ่งเป็นกลุ่มชนมุสลิมในเกาะมินดาเนาของประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น สำหรับองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้มีการดำเนินงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมบทบาทผู้หญิง ภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) โดยเป็นไปตามข้อมติของคณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 1325 และมติที่เกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญและเสริมสร้างบทบาทของผู้หญิงในการส่งเสริมสันติภาพ รวมถึงมาตรการและแนวทางด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง โดยร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง