ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าจัดสรรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เน้นส่งน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และผลักดันความเค็มที่รุกล้ำเข้ามาทางตอนบน ลดผลกระทบน้ำดิบผลิตประปา พร้อมผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมเพิ่มเติม โดยไม่กระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้เพียงพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 10,091 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,395 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ด้านค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนที่มีค่าความเค็มเพิ่มสูงขึ้น หลังมีน้ำทะเลหนุน กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองและ แม่น้ำป่าสัก เพื่อช่วยผลักดันค่าความเค็มออกสู่อ่าวไทยตามแผนฯที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเวลา 07.00 น.ของวันนี้ (19 ก.พ. 63)ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล วัดได้ 0.37 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดาวัดได้ 0.26 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ส่วนแม่น้ำปราจีน-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี วัดได้ 0.13 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) และ แม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก วัดได้ 0.15 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) จากสถานการณ์ค่าความเค็มดังกล่าว จะเห็นได้ว่าในแม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาเพิ่มอีก 500 ล้าน ลบ.ม.(จากแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี2562/63 เดิมลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรไว้รวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. เป็น 4,500 ล้าน ลบ.ม.)เพื่อใช้ในการควบคุมระดับค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกันใช้น้ำตามแผนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งช่วยกันประหยัดน้ำให้ถึงที่สุด หากประชาชนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากโครงการชลประทานในพื้นที่ของท่านได้ตลอดเวลา หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460