ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง ที่ดินเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิต การอยู่อาศัย เป็นต้นทุนสำคัญในการดำรงชีวิต กล่าวกันว่าปัจจัย 4 นั้น มาจากดินทั้งสิ้น ความต้องการนั้นมีมากมายตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่จำนวนที่ดินนั้นยังคงมีจำกัดเท่าเดิม ทำให้ที่ดินเป็นทรัพย์สินที่มีค่า มีราคาแพงมากขึ้นตามกาลเวลา การบริหารจัดการที่ดินจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังในปัจจุบันมีเรื่องของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเมาเกี่ยวข้อง ดำเนินการกระจายสิทธิถือครอง และการส่งเสริมพัฒนาการใช้ประโยชน์ มีมาตรการทางภาษีอากรเข้ามากำหนดทิศทางการทำประโยชน์ ไม่ถือครองโดยปล่อยเป็นที่รกร้าง ในกรณีของไทยเรานั้น การจัดการเรื่องของที่ดินตั้งแต่อดีตมา มีกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จซึ่งตราขึ้นใช้บังคับในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โดยกล่าวไว้ว่า บทที่ 42 “ที่ในแว่นแคว้นกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ เป็นที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะได้เป็นที่ราษฎรก็หามิได้ ... บทที่ 43 “ถ้าที่นอกเมืองหลวงอันเป็นแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยา ใช่ที่ราษฎรอย่าให้ซื้อขายแก่กัน อย่าละไว้ให้ทำเลเปล่า แลให้นายบ้าน นายอำเภอ ร้อยแขวง แลนายอากร จัดคนเข้าอยู่ในที่นั้น ... ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้มีการออกกฎหมายและการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน คือ 1. จัดให้ที่ดินซึ่งรกร้างว่างเปล่าอยู่ไม่เป็นประโยชน์ ให้กลายเป็นที่ดินที่มีการทำประโยชน์ขึ้น มีการจัดการเข้าทำประโยชน์ 2. การพระราชทานที่ดินเพื่อการศาสนาและแก่บุคคล 3. การระงับการวิวาทเรื่องที่ดิน จากบทบัญญัติของกฎหมายและเรื่องราวความเป็นมาดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ที่ดินนั้นเป็นของหลวง ของพระเจ้าแผ่นดิน อนุญาตให้ราษฎรทำกินเท่านั้น ไม่ใช่ตัดเป็นสิทธิขาดของราษฎรแต่อย่างใดไม่ จนพัฒนาการมาสู่การออกโฉนดหรือหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินรับรองสิทธิการทำประโยชน์ในปัจจุบัน ที่ดินอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญและมีความโดดเด่นเป็นพิเศษในแง่ของการคุ้มครองทางกฎหมายก็คือ ที่ดินของวัด ซึ่งมี 3 ประเภท ได้แก่ ที่วัด หมายถึงที่ดินที่ตัววัดตั้งอยู่ มีอาณาเขตเห็นชัดเจน ประเภทที่สอง คือ ที่ธรณีสงฆ์ หมายถึงที่ดินอันเป็นสมบัติของวัดไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ห่างจากวัดแค่ไหนก็ตาม และประเภทที่สาม คือ ที่กัลปนา กรณีนี้ไม่ใช่เป็นการถวายที่ดิน แต่ถวายแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา ในส่วนของที่วัด เราคงจะได้ยินเกี่ยวกับที่ตั้งโบสถ์ ต้องมีการรับพระราชทานวิสุงคามสีมา จึงจะเป็นวัดได้ ซึ่งวิสุงคามสีมา (อ่านว่า วิสุงคามะสีมา) นั้น แปลว่า เขตแดนส่วนหนึ่งจากแดนบ้าน คือที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง เป็นเขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถโดยประกาศเป็นพระบรมราชโองการ จึงเป็นการตัดเขต แบ่งปันส่วนที่ดินของหลวง ของพระเจ้าแผ่นดินอุทิศให้แก่พระศาสนา เพราะคำว่า วิสุง แปลว่า ตัด หรือแยกส่วน ดังกรณีการขอรับศีล ขอรับปฏิบัติเป็นข้อ ๆ ที่ปฏิบัติได้ แยกเป็นรายข้ออกมา บางข้อรับปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่ทำให้ผิดศีลข้ออื่น ๆ ทุกข้อที่รับมา เมื่อโยงใยมาถึงที่ธรณีสงฆ์ที่ผู้มีจิตศรัทธายกให้วัด ให้แก่พระศาสนา ที่ดินดังกล่าวจึงได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ โอนให้กันตามปกติไม่ได้ ต้องโอนโดยการออกพระราชบัญญัติหรืออกกฎหมายโอนโดยเฉพาะ ซื้อขายไม่ได้ ยกอายุความครอบครองปรปักษ์สู้กับทางวัดไม่ได้ บรรดาผู้มีจิตศรัทธาจึงอาจตัดสินใจยกที่ดินของตนให้เป็นของวัด เป็นที่ธรณีสงฆ์ เพื่อให้วัดได้รับผลประโยชน์ไปบำรุงพระศาสนาต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ที่ธรณีสงฆ์ก็จะยังคงสถานะเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีการเล่นแร่แปรธาตุพยายามปรับเปลี่ยนสถานะด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไรเพื่อให้สามารถซื้อขายกันได้ โอนกันได้ หาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบก็ตาม เพราะเป็นของที่ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ คงสถานะความเป็นที่ธรณีสงฆ์ตลอดไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามครรลองคลองธรรมที่ควรจะเป็น ส่วนใครที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไม่ถูกต้องก็ต้องรับผลของการกระทำไปตามส่วน