บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2562 มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ จำนวน 1,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.2 ขณะที่ไตรมาสที่ 4/2562 มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.2 มาจากสภาวะอากาศที่ปลอดโปร่งในประเทศไทย และการรับรู้ผลประกอบการของ 3 โครงการใหม่ พร้อมประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.16 บาทต่อหุ้น รวมจ่ายเงินปันผลทั้งปีในอัตราหุ้นละ 0.64 บาท คิดเป็นเงินปันผลรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,279 ล้านบาท นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่าภาพรวมธุรกิจในปี 2562 บริษัทยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 3,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3.2 โดยในประเทศไทย บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 2,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 4.8 สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่ปลอดโปร่ง ช่วยเอื้อต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบกับการรับรู้รายได้เต็มปีของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 2 โครงการ ในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี กำลังการผลิตตามสัญญา 3.9 เมกะวัตต์ และอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี กำลังการผลิตตามสัญญา 5 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังรับรู้รายได้จากโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ใหม่ โครงการโซลาร์ลอยน้ำเอกชนบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิตตามสัญญา 2.1 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีรายได้จากการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “ลมลิกอร์” จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังการผลิตตามสัญญา 9 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 63 ล้านบาท ซึ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยในปี 2562 บริษัทยังได้เดินหน้าขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A ในเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 69 เมกะวัตต์ และมีรายได้จากการดำเนินงานของโครงการอยู่ที่ 148 ล้านบาทนับตั้งแต่การเข้าซื้อเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา สำหรับการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ บริษัทมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานลม (ก่อนการหัก amortization) อยู่ที่ 59 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 19.1 มีสาเหตุหลักมาจากกำลังลมโดยเฉลี่ยที่ลดลง ประกอบกับการปิดซ่อมบำรุงสายส่งที่ได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่น ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยชั่วโมงในการผลิตไฟฟ้าต่อวัน (Capacity Factor) ลดลงจากร้อยละ 37.1 เป็นร้อยละ 35.5 ในปี 2562 และทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งปี 2562 ลดลงที่ร้อยละ 4.3 เป็น 45 ล้านหน่วย ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2562 บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพ (ก่อนการหัก amortization) ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยเป็นร้อยละ 5 หรืออยู่ที่ 723ล้านบาท สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยชั่วโมงในการผลิตไฟฟ้าต่อวัน (Capacity Factor)ที่ลดลงจากร้อยละ 93.9 เป็นร้อยละ 92.4 เนื่องด้วยการปิดซ่อมบำรุงโครงการตามแผนงาน ทั้งนี้ในปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติที่ไม่รวมกำไร/(ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษจำนวน 430.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากทั้งไตรมาสที่ 4/2561 และไตรมาสที่ 3/2562 ที่ 25.3 และ 20.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 และ 5.1 ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักมาจากสภาวะอากาศที่ปลอดโปร่งในประเทศไทย และการรับรู้ผลประกอบการของโครงการใหม่ๆข้างต้น ณ สิ้นปี 2562 สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 37,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 17.7 ส่วนหนี้สินรวมอยู่ที่ 21,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.5 จากการเพิ่มขึ้นของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยร้อยละ 27.7 โดยการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ และหนี้สินดังกล่าว มีสาเหตุหลักจากการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับในปี 2563 บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV โดยล่าสุดบริษัท ได้เข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่ 2 ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 45 เมกะวัตต์ในเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมทั้งร่วมลงทุนกับพันธมิตรก่อสร้างและดำเนินกิจการระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเวียดนาม รองรับการขายไฟให้การไฟฟ้าเวียดนามขนาด 500 เมกะวัตต์ในอนาคต นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสำคัญกับการให้บริการการจัดการด้านพลังงานหรือ energy as a service นำนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเองและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาโครงการมหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด (Smart University) ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่หลังคา กำลังการผลิตรวม 12 เมกะวัตต์ พร้อมนำเทคโนโลยีระดับโลก อาทิ บล็อกเชน AI และ IoT มาช่วยบริหารจัดการการผลิตและการใช้ไฟฟ้าภายในโครงการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีหลังของปี 2563 ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 18 ก.พ.63 ได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิ สำหรับผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.62 หรือไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.16 บาท และเมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลงวดวันที่ 1 ม.ค.-30 ก.ย.62 ที่ได้จ่ายไปแล้ว ในอัตราหุ้นละ 0.48 บาทจะเป็นเงินปันผลที่จ่ายในปี 2562 รวมอัตราหุ้นละ 0.64 บาท คิดเป็นเงินรวมประมาณ 1,279 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 4 มี.ค.63 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 เมษายน 2563 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯจะขึ้นเครื่องหมาย XD (Exclude Dividend)ในวันที่ 3 มี.ค.63 และกำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันที่ 9 เม.ย.63 เวลา 13.30 น.ที่อาคารเอ็มทาวเวอร์ ถนนสุขุมวิท