“UAC”ตอกย้ำความแข็งแกร่ง ย้ายเข้าเทรดใน SETวันนี้ (19 ก.พ.63) ปูทางนักลงทุนสถาบันทั้งใน-นอกประเทศ เพิ่มสภาพคล่อง สร้างเสถียรภาพให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้น พร้อมเดินหน้าประกาศแผน 4 ปี (2563-2566) ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน-ต่อยอดธุรกิจเทรดดิ้งเจาะตลาด CLMV หนุนรายได้ปี 2566 แตะระดับ 5 พันล้านบาท นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า บริษัทมีความยินดีที่ได้ย้ายเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)ในวันนี้(19 ก.พ.63)ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ จากเดิมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai)ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.53 ทั้งนี้เชื่อว่าการย้ายไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับหลักทรัพย์ของบริษัทมากขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าลงทุนของนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มเสถียรภาพให้กับบริษัทและหุ้นของบริษัทมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ UAC ซื้อขายในตลาด mai เรามีความมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจในทุกด้าน มีการลงทุนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ ในการสร้างการเติบโตขององค์กรควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยจะเห็นได้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจาก 767 ล้านบาทในปี 2010 เป็นกว่า 2,800 ล้านบาทในปี 2019 และเรามีการปันผลต่อเนื่องทุกปีคิดเป็นมูลค่ารวม 571 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี ขณะเดียวกันการที่ UAC ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหุ้นยั่งยืน ในกลุ่ม mai 4 ปีติดต่อกัน และยังได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ 5 ดาว หรือ “ดีเลิศ” จากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ของ IOD และ ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงทิศทางการทำธุรกิจของ UAC ได้เป็นอย่างดี สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจ 4 ปี(2563-2566) โดยจะลงทุนต่อเนื่องด้านพลังงานสะอาด Green Chemical และธุรกิจเทรดดิ้ง พร้อมตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2566 แตะระดับ 5,000 ล้านบาท โดยบริษัทมีการตั้งเป้าในการแบ่งสัดส่วนรายได้ 4 ปีข้างหน้าคือ 40:60 แบ่งเป็นธุรกิจเทรดดิ้ง 40% ธุรกิจเคมีภัณฑ์และธุรกิจด้านพลังงานทดแทน 60% นอกจากนี้บริษัทมีแผนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นตามนโยบายของภาครัฐที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยใช้พืชพลังงานเช่น หญ้าเนเปียร์,ข้าวโพด,มันสำปะหลัง และอื่นๆ โดยบริษัทได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปศึกษาในหลายๆพื้นที่ ที่มีศักยภาพเรื่องพืชพลังงาน ทั้งนี้หากกระทรวงพลังงานเปิดให้ผู้สนใจทั้งภาคเอกชนและชุมชนยื่นข้อเสนอประมูลแข่งขันโครงการภายในเดือน ก.พ.นี้ บริษัทพร้อมที่จะร่วมยื่นประมูลด้วย ตั้งเป้ายื่นประมูลประมาณ 20 เมกะวัตต์ เฉลี่ยโครงการละ 1.5-3 เมกะวัตต์ โดยใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และพร้อมศึกษาการลงทุนร่วมกับพันธมิตรในโครงการใหม่ๆในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้นในอนาคต