สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) "เปิดตัวนวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีทฟู๊ด" ที่พัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรม จนได้รถเข็นที่เป็นนวัตกรรมต้นแบบสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่จะใช้ขายอาหารริมทาง โดยมีน้ำหนักเบา มีระบบน้ำดี ถังบำบัดและซิงค์น้ำ ระบบดูดและบำบัดควัน หัวเตาแก๊ส 2 หัว รวมถึงมีตู้เก็บความเย็นพร้อมแท่นรับพ่วงข้าง ตอบโจทย์นโยบาย BCG Economy Model เน้นพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดถือเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นกลไกสำคัญในการต่อยอดเศรษฐกิจมหภาค สตรีทฟู้ดคือธุรกิจที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้จำหน่ายอาหารในทุกระดับ ตั้งแต่หาบเร่ รถเข็น จนถึงที่เติบโตมีหน้าร้านขายเป็นกิจลักษณะ ข้อมูลปี 2560 พบว่ามีธุรกิจร้านอาหารริมทาง หรือ Street Food ของไทยมากกว่า 103,000 ร้านทั่วประเทศ คิดเป็นมูลค่าตลาดสูงกว่า 270,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้นทุกปี โดยปัจจุบันธุรกิจสตรีทฟู้ดของไทยเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6 - 7 และมีแนวโน้มเติบโตขยายตัวถึงร้อยละ 10 จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ประกอบกับสตรีทฟู้ดจะมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 10 - 20 ในอีก 5 - 10 ปีข้างหน้า ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการผลักดันธุรกิจร้านอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดของไทย ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ อว.โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงริเริ่มและคิดค้นหาทางยกระดับสตรีทฟู้ดไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร สุขอนามัยและความสะอาดของร้านและผู้ปรุงอาหาร รวมถึงคุณภาพการให้บริการ และความอร่อย ให้สอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดย อว. เล็งเห็นว่า BCG Economy Model จะสามารถยกระดับสตรีทฟู้ดได้ในหลากหลายมิติ เพราะ BCG จะเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันสร้างให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในบางสาขาที่ไทยมีศักยภาพได้ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช.กล่าวว่า สตรีทฟู้ดอยู่คู่กับเมืองไทยมาช้านาน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และเป็นอาหารของประชาชนชาวไทยได้ทุกมื้อตั้งแต่อาหารเช้า ถึงอาหารมื้อค่ำ เป็นทั้งอาหารมื้อหลัก มื้อรอง เครื่องดื่ม ขนม จากอดีตถึงปัจจุบันสตรีทฟู้ดเป็นจุดขายที่โดดเด่นของประเทศ เมื่อปี 2559-2560 สำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับให้กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยเป็นเมืองที่มีอาหารริมทาง (Street Food) ที่ดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก จากการสำรวจพบว่าผู้บริโภค 76% ซื้ออาหารสตรีทฟู้ดบริโภคเป็นประจำ โดยสตรีทฟู้ดเป็นไฮไลท์ด้านวัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวไทย ให้มาลิ้มลองอาหารไทยที่หลากหลาย โดดเด่นทั้งรสชาติ ที่เป็นแบบดั้งเดิม อร่อยแบบไทย ๆ รวมไปถึงการที่ได้เห็นทักษะ ลีลา และเทคนิคที่ใช้ในการประกอบอาหาร ที่นักท่องเที่ยวไม่เคยพบเห็นมาก่อน "สวทช. โดย ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) ได้พัฒนานวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกในเวอร์ชันที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำเร็จแล้วในวันนี้ และยังมีเป้าหมายส่งมอบนวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลก ไม่น้อยกว่า 100 คัน ให้กับผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดได้ใช้งานจริงในการประกอบกิจการ อีกทั้งยังมีการสนับสนุนงบฯบางส่วนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการและกระตุ้นให้เกิดการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม วางรูปแบบการพัฒนาเป็น 4 โมเดลหลักเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ประกอบการสตรีทฟู้ด ดังนี้ 1) รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี, ถังบำบัดและซิงค์น้ำ 2) รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี, ถังบำบัดและซิงค์น้ำ +ระบบดูดควัน 3) รถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี, ถังบำบัดและซิงค์น้ำ+ ระบบดูดควัน + หัวเตาแก๊ส 2 หัว และ 4) ระบบตู้เก็บความเย็นพร้อมแท่นรับพ่วงข้าง ซึ่งภายใต้โครงการนี้ สวทช. จะทำให้ราคาเป้าหมายของรถเข็นนวัตกรรรมรักษ์โลก เป็นราคาที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้" ขณะที่ นางปรางมาศ เธียรธนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานลูกค้ารายย่อยและองค์กรชุมชน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ กล่าวเสริมว่า ธนาคารออมสินจะช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ โดยมีงบฯสนับสนุนส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้รถเข็นนวัตกรรรมรักษ์โลกนี้ ในราคาเพียง 20,000 บาท และยังมีแคมเปญเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นแคมเปญพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อผู้ประกอบการภายในโครงการนี้เท่านั้น จำกัดเพียง 100 รายแรก คาดว่าในอีกใน 6 เดือนข้างหน้าจะมีบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อมาบริหารจัดการรถเข็นรักษ์โลกสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป และวางแผนขอการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในด้านความแข็งแรงและความปลอดภัย เพื่อให้เอกสิทธิ์กับผู้ประกอบการที่ใช้รถเข็นนวัตกรรมรักษ์โลกนี้ ได้มีโอกาสที่มากขึ้นในการหาช่องทำเลตั้งในการค้าขายอาหารริมทาง เช่น ได้มีโอกาสจำหน่ายสินค้าในพื้นที่พิเศษที่เคยเป็นข้อจำกัดของอาหารสตรีทฟู้ด เช่น ในพื้นที่ปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2564-6310 -11 หรือwww.decc.or.th/streetfood