ความเคลื่อนไหวของเชนอาหารฟาสต์ฟู้ดไก่ อันดับสองของสหรัฐอเมริกา อย่างเคเอฟซี ที่ประกาศแผนยกเลิกการซื้อวัตถุดิบไก่ที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยให้เวลากับซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯปรับตัวจนถึงสิ้นปี 2561 เป็นความเคลื่อนไหวหลังจากที่แมคโดนัลด์ สหรัฐฯที่มีสาขากว่า 14,000 แห่งได้งดการนำไก่ที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา ทิศทางสำหรับอุตสาหกรรมผู้ประกอบการไก่เนื้อจากนี้ จึงต้องเร่งปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งผู้นำการผลิตไก่เบอร์หนึ่งของสหรัฐฯ อย่างไทสัน ฟู้ดส์ ได้ประกาศเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาแล้วว่า ไทสัน ฟู้ดส์ มีแผนที่จะไม่ใช้ยาปฏิชีวนะของมนุษย์ในการเลี้ยงไก่ภายในเดือนกันยายน 2560 นี้ กล่าวได้ว่า การปรับตัวของอุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากมติการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly : UNGA) เมื่อเดือนกันยายน 2559 ให้คำมั่นว่า ประชาคมโลกจะร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับปัญหาการดื้อยา ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้รณรงค์การตระหนักรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในคนและปศุสัตว์ เพื่อให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ที่อยู่ในวงการปศุสัตว์ตื่นตัวกับการใช้ยาอย่างระมัดระวัง สำหรับประเทศไทย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายการลดใช้ยาปฏิชีวนะของคนไทยให้เหลือไม่เกินร้อยละ 20 โดยครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากเชื้อดื้อยาของคนไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ภาคปศุสัตว์ ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างซีพีเอฟ ที่เป็นผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร และให้ความสำคัญด้านอาหารปลอดภัยมาโดยตลอดนั้น สามารถเลี้ยงไก่ปลอดยาปฏิชีวนะสำเร็จแล้วจากโครงการนำร่องตั้งแต่ ปี 2557 และขยายผลต่อยอดโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตามหลักการของสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) ที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม ให้สัตว์อยู่สบายนั้น หากสัตว์ที่เลี้ยงป่วย สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มต้องวินิจฉัยหาสาเหตุที่มาของอาการ และแก้ไขให้ตรงจุด เรียกได้ว่า ยาจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่ถูกนำมาใช้ โดยจะอิงตามองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties : OIE) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) จะเป็นการใช้เพื่อการรักษาเท่านั้น เพื่อไม่ให้สัตว์ที่ป่วยเกิดภาวการณ์อมโรค การใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์จึงมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มที่ดูแลการใช้ยาอย่างเข้มงวด โดยปฏิบัติตามมาตรฐานข้อกำหนดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีกรอบการควบคุมที่ชัดเจน ที่สำคัญ ในปี 2560 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน” ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการปศุสัตว์ OK เพื่อมุ่งสร้างมาตรฐานการผลิตปศุสัตว์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจากการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม การนำสัตว์เข้าเชือดชำแหละในโรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และมีสุขอนามัยที่ดี มีระบบความเย็นเพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อสัตว์ทั้งในระหว่างการขนส่งไปถึงจุดจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ และเมื่อถึงร้านก่อนถึงผู้บริโภค “ปศุสัตว์ OK” ของกรมปศุสัตว์ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่า สินค้าที่ได้รับสัญลักษณะนี้ มีคุณภาพมาตรฐาน สด สะอาด ปลอดภัย ปลอดสารตกค้าง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย สะท้อนถึงความใส่ใจในมาตรฐานอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน