สำหรับ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่ยูเนสโกดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งเวลานี้ประเทศไทยมีเมืองสร้างสรรค์อยู่ 4 เมือง คือ ภูเก็ต เป็นเมืองแห่งอาหาร เชียงใหม่ เป็นเมืองแห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน สุโขทัย เป็นเมืองแห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน และกรุงเทพ เป็นเมืองแห่งดีไซน์ โดยทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ได้เตรียมขยายผลนำแนวคิดด้านแผนงานการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่น และทรัพยากรที่โดดเด่นของพื้นที่ ต่อยอดพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษอื่นๆ มุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์ พร้อมรับชาวต่างชาติที่จะมาท่องเที่ยวประเทศไทยอีกครั้ง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้พร้อม ในช่วงที่ผ่านมาได้ร่วมพิธีต้อนรับแขกเมืองเข้าสู่เมืองสุโขทัยอย่างเป็นทางการที่ บริเวณดงตาล อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ด้วยการรับประทานมื้อค่ำกับเตียบดินเนอร์ โดยมีอาหารขึ้นสำรับตามประเพณีกินสี่ถ้วย ซึ่งเป็นวิถีมงคลของท้องถิ่น พร้อมชมการแสดงศิลปะตามแบบฉบับสุโขทัยโบราณ เพื่อสัมผัสมุมมองใหม่ในการท่องเที่ยวสุโขทัย และเพิ่มกิจกรรมท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น บริเวณดงตาล ทั้งนี้ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า จังหวัดสุโขทัย ได้รับประกาศจากยูเนสโกเป็นเมืองสร้างสรรค์ แห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นเมืองมรดกโลก โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของวิถีชีวิต มีผู้คนเติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ อาทิ การทอผ้าตีนจก การทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น งานไม้ และงานลวดลายทองคำหรือทองสุโขทัย ทุกอย่างล้วนมีความสวยงาม มีอัตลักษณ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักชื่นชอบของนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ดังนั้นการดำเนินการพัฒนาสุโขทัยสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จึงต้องจัดสรรงบประมาณ และบูรณาการงบประมาณกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนเมืองนี้ พร้อมกับแผนที่จะนำเสนอพื้นที่พิเศษอื่น ๆ ของ อพท. เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ซึ่งความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่น และภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติได้มากขึ้น ตักบาตรวัดตระพังทอง อีกทั้ง นายทวีพงษ์ ยังกล่าวต่อว่า ประโยชน์ของการได้รับเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จะช่วยให้สุโขทัยเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นการยกระดับจังหวัดสุโขทัยให้มีชื่อเสียงระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เดินทางมาเยือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเมืองที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลก ขณะที่ชุมชนที่ อพท. ได้พัฒนาไว้แล้วนั้น ก็เข้มแข็งมีศักยภาพที่จะรองรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน ทองโบราณสุโขทัย ในปัจจุบันเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกทั่วโลกมีทั้งหมด 246 เมือง โดยเมืองสมาชิกที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย จะถูกคัดเลือกมาจากทุกทวีปและภูมิภาค ที่มีระดับรายได้และประชากรแตกต่างกัน แต่มีการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุภารกิจร่วมกัน ดังนั้นการวางความคิดสร้างสรรค์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เป็นแกนหลักของแผนพัฒนาเมืองของแต่ละเมืองที่ได้รับคัดเลือกนั้นจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และสอดคล้องกับวาระการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติภายในปี 2573 เป็นปัจจัยในการขยายโอกาส ขณะที่ นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ประธานกรรมการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวในฐานะผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนและผลักดันแนวคิดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดสุโขทัย ว่า ได้วางแนวทางการพัฒนาจังหวัดสุโขทัยภายหลังได้รับการประกาศเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยทาง อพท. จะร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวม ฟื้นฟู พัฒนาและต่อยอดงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของจังหวัดสุโขทัย ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นปัจจัยในการขยายโอกาสทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นถิ่น เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการพาณิชย์แก่ผู้ผลิตงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ตลอดจนผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก ปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล โดย แนวทางการทำงานดังกล่าว จะส่งผลต่อการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดและภาพรวม และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรม และความร่วมมือระหว่างจังหวัดสุโขทัยกับสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกกว่า 246 เมืองจากทั่วโลก ซึ่งการทำงานดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมายของการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดโตอย่างยั่งยืน ด้าน นางสุนทรี ขนาดนิด เจ้าของร้านสุนทรีผ้าไทย ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า งานของร้านเป็นฝีมือของชาวไทพวนแท้ๆ กับการทอผ้าซิ่นตีนจกซึ่งมีเอกลักษณ์ในการทอคว่ำหน้าลายลง เป็นการสร้างเอกลักษณ์ของลายผ้าได้อย่างเฉพาะตัว นอกจากนี้ทางร้านยังพัฒนาต่อยอด นำผ้าทอมาประยุกต์ผลิตเป็นสินค้าตกแต่งบ้าน รวมไปถึงเครื่องประดับอย่างต่างหู สร้อย ฯลฯ จนถึงปัจจุบันผ้าจก คือ ผ้าทอที่สวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส ทั้งยังเป็นข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่งที่โดดเด่น แปลกตา สง่างาม ล้ำสมัย ในแวดวงสากล สุนทรี ขนาดนิด ขณะที่ นางสาวรวีวรรณ ขนาดนิด ผู้จัดการร้านสุนทรีผ้าไทย แห่งบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า การที่จังหวัดสุโขทัย ได้รับประกาศจากยูเนสโกเป็นเมืองสร้างสรรค์ แห่งหัตถกรรม ศิลปะพื้นบ้าน สามารถต่อยอดงานทางด้านฝีมือที่มีอยู่เดิมให้พัฒนาได้ดียิ่งขึ้น จนสามารถสร้างความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุขให้กับชุมชน เนื่องจากมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากการนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ที่มีอยู่ ผสมผสานเข้ากับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ขนมโบราณของชาวไทพวน โดยในส่วนร้านสุนทรีผ้าไทยก็ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการ กระบวนการ รูปแบบ เพื่อให้คนรุ่นใหม่สนใจผ้าโบราณ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการใช้เทคนิคเดิม ๆ คือใช้ขนเม่นในการจกเส้นฝ้ายเส้นไหม ใช้การเข็นแบบโบราณ ในขณะที่พัฒนาวิธีการถอดลวดลายจากชิ้นผ้า มาสร้างเป็นกราฟในคอมพิวเตอร์ ปรับเปลี่ยนโทนสีจากเดิม เขียว แดง เหลือง ให้มีความนวลตา มากขึ้น การจัดวางลวดลายด้วยวิธีการตกแต่งอันเก๋ไก๋ ชวนหลงใหล ภายใต้แบรนด์ ซันทรี สำหรับ ซัน คือพระอาทิตย์ ส่วนทรี คือต้นไม้ ทั้งสองสิ่งนี้ต้องอยู่คู่กับโลก เช่นเดียวกับความงามความสุนทรีของภูมิปัญญาผ้าทอไทย ที่จะต้องยังคงอยู่ตลอดไป  ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้าน พร้อมกันนี้ ร้านสุนทรีผ้าไทย ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยวแห่งนี้ ยังสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้เปิดโอกาสให้สมาชิกของกลุ่ม มาร่วมกันทอผ้า เเละร่วมกันจัดตั้งเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งหมายให้เป็นที่ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่เป็นฝีมือของคนในพื้นที่ เพื่อเป็นรายได้เสริม อีกทั้งยังเป็นการรักษา และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของผ้าทอไทยพวนให้คงอยู่ต่อไปอีกด้วย