สทนช. นำคณะรัฐสภาเยอรมันลงพื้นที่ศึกษาดูงานบริหารจัดการน้ำภายใต้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ณ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี พร้อมเตรียมมาตรการพัฒนาปรับปรุงอ่างฯ รับมือความเสี่ยงขาดแคลนน้ำพื้นที่ EEC ในอนาคต เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับคณะผู้แทนสมาชิกรัฐสภาเยอรมัน นำโดย ดร.ปีเตอร์ รัมเซาเออร์ ประธานคณะกรรมการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา พร้อมด้วยนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันประจำประเทศไทย ลงพื้นที่ดูงานแนวทางการบริหารทรัพยากรน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม ภายใต้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ณ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในการศึกษาจัดทำแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกของ สทนช. พบว่าพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และจังหวัดระยอง มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ โดยเมื่อพิจารณาจากการขยายตัวของประชากร ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ของจังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. 2580 จะมีความต้องการใช้น้ำถึง 703 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2560 จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงมาตรการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ แหล่งน้ำต้นทุนสำคัญของจังหวัดด้วย “ปัจจุบัน สทนช. และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้ร่วมกันดำเนินการตามแผนงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย-เยอรมัน ภาคส่วนน้ำ (TGCP-Water) ส่งเสริม การบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคส่วนน้ำ ทั้งในระดับนโยบายและระดับภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการใช้มาตรการที่มิใช่สิ่งก่อสร้าง (non-structural solutions) เพื่อจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้งภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่าการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem-based adaptation: EbA) มีเป้าหมายเพื่อวางแนวทางการสร้างความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำของประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในทุกระดับ สำหรับการลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรฯ ในวันนี้ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ มีจุดเด่นด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการและในระยะยาว โดยมีแผนปฏิบัติการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี (พ.ศ. 2553 – 2569) โดยมีกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ เช่น แผนพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่องให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการก่อสร้าง แผนการพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการ และสร้างโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่นด้านเศรษฐกิจสังคม เป็นต้น” ดร.สมเกียรติ กล่าว ด้าน ดร.ปีเตอร์ รัมเซาเออร์ ประธานคณะกรรมการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา กล่าวว่า รัฐบาลเยอรมันให้ความสำคัญกับการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากแต่ในปัจจุบันมีการวางแผนการบริหารทรัพยากรน้ำเป็นระบบ อันเนื่องมาจากการมีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ และแผนแม่บทการบริหารทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยการดูงานในครั้งนี้นับเป็นประสบการณ์ที่ดี ได้รับทราบแนวทางการบริหารจัดการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม รวมถึงความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถขยายผลแนวทางการดำเนินงาน และถ่ายทอดองค์ความรู้ในลักษณะความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) ให้กับประเทศอื่น ๆ ได้ต่อไป