เวทีเสวนา “ทางเลือกทางรอดชาวสวนยางพารา” ตรัง สรุป 6 ข้อชง รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาลผลักดันเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง “ชี้” แก้ปัญหาราคาเป็นประเด็นเร่งด่วนที่สุด ส่วนข้อเรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.ยาง จะนำเสนอต่อรัฐสภาขับเคลื่อนต่อไป วันที่ 18 ก.พ.63 ที่จังหวัดตรัง หลังจากที่ สส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.เขต 3 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.เขต 2 จัดประชุมเสวนาหัวข้อ “ทางเลือก ทางรอดชาวสวนยางพารา” โดยมี อบจ.ตรัง และการยางแห่งประเทศไทย เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยมีการแบ่งกลุ่มเสวนาย่อย เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาตลอดจนข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลแบ่งเป็น 4 ประเด็น ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาราคายางและนโยบายประกันรายได้ จากตัวแทนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ,สิทธิการใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกิน จากชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ , การแปรรูปยางพารา จากสถาบันเกษตรกร และกลุ่มแปรรูปยาง เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง จากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยหรือกลุ่มอาชีพรับจ้างกรีดยาง เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราต่อไป นางสาวสุณัฐชา กล่าวว่า วงประชุมเสวนาสรุปผล 1.ขอให้รัฐออกกฎหมายกำกับให้มีการเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น 2. ขอให้รัฐสนับสนุนเงินทุนปลอดดอกเบี้ยแก่สถาบัน หรือกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง จัดหาตลาด และสร้างค่านิยมในการใช้ยางพาราไทยอย่างจริงจัง ให้การลดหย่อนภาษีสินค้ายางพาราจากเกษตรกร รวมทั้งผู้ซื้อสินค้าจากยางพาราไทยต้องนำไปลดหย่อนภาษีได้ 3.การออกกฏหมายบังคับการใช้ยางเป็นส่วนผสมสำหรับทำถนนพาราแอสฟัลด์ติกไม่น้อยกว่า 5% ซึ่งในเรื่องนี้ตัวแทนเกษตรกรจะนำข้อเสนอไปยื่นต่อรัฐสภาด้วย 4. ให้รัฐเปิดลาด 3 ประสานระหว่างเครือข่ายสถาบันเกษตรกร - ตลาดกลางยางพารา และตลาดซื้อขายจริงแทนตลาดซื้อขายล่วงหน้า 5.ขอให้รัฐมอบที่ดินแบบสิทธิขาด 6.ขอเอกสารสิทธิ์จากพื้นที่ทำกินที่ทำอยู่ที่ทับซ้อนอยู่กับพื้นที่อุทยานฯ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และป่าไม้ และให้ยกเลิกทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น “จังหวัดตรังเป็นจังหวัดแรกที่นำยางพารามาปลูกจนสารมรถสร้างรายได้ใก้แก่คนตรังรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ นับเป็นพระคุณของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ผู้นำต้นยางต้นแรกมาปลูกในประเทศไทย แต่วันนี้ปากท้องชาวสวนยางกำลังมีปัญหา ด้วยราคายางที่ตกต่ำ การเสวนาในครั้งนี้จึงไม่แยกพรรคแยกฝ่าย ทุกภาคส่วนสามารถช่วยกันระดมความคิดเห็นเพื่อแสนอเป็นทางเลือกทางรอดแก่เกษตรกรชาวสวนยางได้ทั้งสิ้น และเป็นการเสนอทางออกที่มีคุณภาพมากกว่าการประท้วง” นางสาวสุณัฐชา กล่าว ด้านนายสาทิตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอในวันนี้ครอบคลุมทั้ง 3 ระดับ คือ 1.เป็นข้อเสนอหน่วยงานระดับในพื้นที่ที่มีตัวแทนมารับฟังนำไปเสนอต่อต้นสังกัดต่อไป ซึ่งส.ส.เราก็จะมีระบบติดตามต่อไป 2.เป็นข้อเสนอหน่วยงานระดับประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลาง ทั้ง กยท. และหน่วยงานอื่น ทางผู้จัดก็จะประมวลและสรุปนำเสนอต่อไป และ 3. ระดับนโนบายซึ่งมี 2 ทาง คือ ไปที่สภาผู้แทนราษฎร ทั้งการตั้งกระทู้ถาม การยื่นญัติติต่างๆหรือผ่านคณะกรรมาธิการซึ่งจะหารือกันอีกครั้งหนึ่ง และเสนอตรงไปยังรัฐมนตรีต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องยางก็เสนอไปยังรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรฯ แต่ที่สำคัญจะมีระบบการติดตาม “ประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบทำเลยคือ เรื่องรายได้ของเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำเรื่องการประกันรายได้ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ประเด็นใหญ่คือ การเพิ่มศักยภาพของสถาบันเกษตรกร เช่น โรงรมยาง จะต้องไปหารือและเร่งดำเนินการ เพราะมีส่วนทำให้ราคายางดีขึ้น ระยะถัดไปคือ เรื่องการส่งเสริมการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ ระยะยาวเรื่องคุณภาพชีวิต กองทุนสวัสดิการ เรื่องกฎหมายที่มีการเสนอนำยางมาใช้ให้ได้ 5% ซึ่งโจทย์วันนี้คือ ทำอย่างไรให้ยางพารากลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจเหมือนเดิม แต่ด้วยกระบวนการของยางพารามีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะเรื่องกลไกราคา ซึ่งหากสามารถทำให้ยางพารากลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงแก่เกษตรกรทุกคน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และที่สำคัญการประกันรายได้ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ” นายสาทิตย์ กล่าว