เมื่อวันที่ 17 ก.พ. นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมซักซ้อมการปฏิบัติงาน เพื่อขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กรมปศุสัตว์ กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีนายไพบูรณ์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายสุรพล ธัญญเจริญ ปศุสัตว์เขต 6 นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ และนายสมบัติ ชื่นชม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดพิษณุโลก โดยมี สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด/ ปศุสัตว์อำเภอ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ทั้ง 9 จังหวัด เกษตรจังหวัด กรมชลประทาน รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดพิษณุโลก ตลอดจนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าร่วม ณ ห้องประชุมพระพุทธชินราช ชั้น 7 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก นายประภัตร กล่าวว่า รัฐบาลนำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่เป็นผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ เช่น อุทกภัย และภัยแล้ง จึงมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพ สร้างอาชีพทางเลือกใหม่ ที่มีศักยภาพทางด้านการตลาดรองรับ เช่น การเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติโครงการสินเชื่อให้ ธ.ก.ส. ในวงเงิน 50,000 ล้าน ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยล้านละหนึ่งร้อยบาทต่อปี โดยเกษตรกรต้องรวมกลุ่มจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิกกลุ่มละ 10 คน ซึ่งนายกฯ ได้เน้นย้ำว่าในการจัดตั้งกลุ่มนั้นจะต้องดึงเกษตรกรที่ด้อยโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ตลอดจนจะต้องมีคอกกลางหรือคนกลาง ที่จะมาทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตของแต่ละจังหวัด ทำการขึ้นทะเบียนโคทุกตัว รวมทั้งต้องได้ใบรับรองจากกรมปศุสัตว์ในการตรวจโรค เพื่อให้เป็นระบบที่ได้มาตรฐาน ยกระดับของอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคในประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งคอกกลางมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยพยุงและรักษาเสถียรภาพของราคาให้ผู้เลี้ยงโคไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีกด้วย "อย่างไรก็ตาม ได้รับข้อมูลจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนว่าขณะนี้ มีความพยายามของผู้ซื้อที่จะกดราคารับซื้อโคขุนของเกษตรกรจากพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นจึงได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ออกมาตรการหรือสนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ชมรม หรือสมาคมผู้ขุนโคในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยกันดูแล ในด้านการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตของมวลสมาชิก ให้มีการซื้อขายอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ในเบื้องต้นราคาโคเนื้อมีชีวิต กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท”รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว ทั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์เขต 6 มีพื้นที่รับผิดชอบ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.กำแพงเพชร จ.ตาก จ.นครสวรรค์ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ และ จ.อุทัยธานี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคทั้งสิ้น 35,123 ราย โค 479,976 ตัว แบ่งเป็น 1.โคเนื้อ (โคพันธุ์, โคลูกผสม) 14,225 ราย 192,266 ตัว 2.โคขุน 1,241 ราย 15,337 ตัว และ 3.โคพื้นเมือง 19,657 ราย 272,373 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ 7,735 ราย 87,862 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ 1,891 ราย 64,396 ตัว และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง 301,164 ราย 11,394,322 ตัว ที่สำคัญ เป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการขุนโค ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เกษตรกรนิยมเลี้ยงโคขุนกันอย่างแพร่หลาย