“สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยดัชนีชี้วัดความคุ้มค่าในการลงทุนผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น พบข้อมูลว่าหลายพื้นที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนมากกว่า 7 เท่า” ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับทีมนักวิจัยจาก วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่เปิดเผยข้อมูลการศึกษา “โครงการการประเมินผลโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ สกสว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ณ จังหวัดลำปางและจังหวัดพะเยา โดยมีคณะสื่อมวลชนให้ความสนใจร่วมลงพื้นที่มากกว่า 10 คน โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการสนับสนุนทุนวิจัยฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกสว. นายเศรษฐภูมิ บัวทอง นักวิจัยจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เดิมคือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งเป็นการสนับสนุนงานวิจัยที่โจทย์เกิดิจากความต้องการของชาวบ้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนถึงปีงบประมาณ 2559 ฝ่ายการวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. ได้ให้การสนับสนุนงานโครงการวิจัยไปแล้ว 3,764 โครงการ เป็นมูลค่างบประมาณกว่า 1,198 ล้านบาท สามารถสร้างนักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องในโครงการต่าง ๆ 32,410 คน ในปีที่ผ่านมา สกสว. จึงเริ่มประเมินผลสัมฤทธิ์ของการสนับสนุนการวิจัยเพื่อศึกษาทั้งประเด็นวิจัย เพื่อระบุผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยการใช้ดัชนีชี้วัดคือแนวคิดการประเมินผลตอบแทนทางสังคม Social Return on Investment (SROI) เป็นการประเมินมูลค่าทางสังคมที่ครอบคลุมทุกมิติทางสังคมที่มากกว่าการประเมินค่ามูลค่าของเงิน การทำ SROI นั้นเพื่อให้เห็นถึงความคุ้มค่าของการลงทุนว่าสามารถสร้างผลลัพธ์เป็นมูลค่าทางสังคมเท่าไหร่ เพื่อประเมินว่าการลงทุนนั้นมีความคุ้มค่าหรือไม่ นอกจากนี้การศึกษาในครั้งนี้ยังมีการศึกษารวมไปถึงประเด็นการให้ทุนวิจัย ซึ่งพบว่าการให้ทุนวิจัยนั้นมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายไว้ หนึ่งในโครงการที่ได้รับการประเมินคือ โครงการรูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยนายชาญ อุทธิยะ หรือ ลุงหนาน นักวิจัยชาวบ้านเล่าให้ทีมข่าวฟังว่า จุดเริ่มต้นการทำงานวิจัยปลดหนี้ต้องย้อนไปราว 20 ปีก่อน ชาวบ้านในชุมชนบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เกิดปัญหาในชุมชนโดยพบว่า หลายครัวเรือนต่างมีหนี้สิน ซึ่งปัญหาหนี้สินเริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนกระทั่งชายคนหนึ่งในหมู่บ้านตัดสินใจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ทำให้ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อหาทางออกในการลดหนี้สิน ในปี พ.ศ.2545 ชาวบ้านที่นี่จึงเริ่มศึกษาหาทางออกโดยใช้กระบวนการวิจัย เกิดเป็นโครงการวิจัย “รูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินบ้านสามขา ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง” โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้ชาวบ้านทราบว่า ชาวชุมชนบ้านสามขามีหนี้สินรวมราว 18 ล้านบาท ต่อมาจึงเกิดการแก้ปัญหาจนกระทั่งปัจจุบันชาวบ้านชุมชนสามขามีเงินในกองทุนมากกว่า 21 ล้านบาท และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ลุงหนานยังบอกอีกว่า จุดเริ่มต้นจากการที่ สกว. ในอดีตได้ลุงทุนกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโครงการนี้เพียง 300,000 บาท ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านสามมารถมีเงินเก็บในกองทุนกว่า 21 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าการลงในทุนงานวิจัยลักษณะนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง แต่ก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ปัจจุบันหลังจากมีการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ ทำให้การวิจัยในลักษณะนี้ถูกลดบทบาทและอาจเลือนหายไปในอนาคตอันใกล้นี้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ได้เปลี่ยนบทบาทไปทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งบทบาทที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ได้ให้ทุนสนับสนุนกับนักวิจัยรายโครงการโดยตรง แต่เปลี่ยนบทบาทเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าจัดสรรงบประมาณด้วยการวิจัยของประเทศ เพื่อให้งบประมาณด้านการวิจัยนั้นถูกจัดสรรปย่างเป็นระบบและจะทำให้งานวิจัยสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง