กฟผ.จับมือ RATCH-EGCO จัดตั้งบริษัทด้านนวัตกรรมรองรับเทคโนโลยีไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนการบริหาร เงินช่วยเหลือเทคโนโลยีสีเขียว“กองทุน RAC NAMA”ประสบความสำเร็จ ผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น หันมาใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทด้านนวัตกรรมพลังงาน เบื้องต้นได้เสนอรายละเอียดการจัดตั้งบริษัทให้กับกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้ว โดยจะใช่ชื่อว่า บริษัท อีแกท อินโนเวชั่น โฮลดิ้งส์ คัมปานีส์ จำกัด โดย กฟผ.มีสัดส่วนถือหุ้น ร้อยละ 40 บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)หรือ EGCO ร้อยละ 30 และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ร้อยละ 30 เบื้องต้นคาดว่าจะใช้ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเห็นชอบได้ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.63 คาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.63 ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนในโครงการนวัตกรรมด้านต่างๆตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น เบื้องต้น กฟผ.จะลงทุน 2 โครงการได้แก่ กำลังผลิตแห่งละ 1 เมกะวัตต์ได้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวล อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนโครงการละประมาณ 200-300 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในอนาคตโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยจะมีบทบาทมากขึ้น โดย กฟผ.ตั้งเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในสัดส่วน ร้อยละ35-40 ภายในปี 2580 จากปัจจุบันมีสัดส่วน ร้อยละ20 นอกจากนี้ กฟผ.ยังเดินหน้าส่งเสริมการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย กฟผ.ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประกาศความสำเร็จของกองทุน RAC NAMA ซึ่งเป็นกองทุนแรกของประเทศไทยที่มีการพัฒนากลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษและเยอรมนีผ่านกองทุน NAMA Facility ในการดำเนินโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น จำนวน 9 ราย หันมาใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างฯจำนวน 8 แห่งทั่วประเทศ โดยมีครูต้นแบบที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 150 คน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปีพ.ศ.2573 ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) โดยโครงการนี้ มีรัฐบาลเยอรมัน รัฐบาลอังกฤษ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ได้เสริมสร้างความร่วมมือ และสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ เทคโนโลยี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ในฐานะผู้รับทุน และบริหารจัดการกองทุน RAC NAMA มาตั้งแต่ปี 2560 จำนวน 8.3 ล้านยูโร (ประมาณ 300 ล้านบาท) และได้สนับสนุนเงินทุนด้านต่างๆได้แก่ 1.เงินสนับสนุนกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคกว่า 10 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่ออกสู่ตลาดแล้ว กระตุ้นยอดซื้อตู้เย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติได้กว่า 15,000 เครื่อง และประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 1.1 ล้านหน่วยต่อปี 2.เงินสนับสนุนระยะสั้นปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 1 ปี ให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นไทย ช่วยสร้างสภาพคล่องทางการเงินในการลงทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติ 52 ล้านบาท 3.เงินอุดหนุนแบบให้เปล่าให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นไทย สำหรับการปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติกว่า 90 ล้านบาท 4.เงินอุดหนุนสำหรับการจัดหาอุปกรณ์สำหรับฝึกอบรมและจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม 8 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 15 ล้านบาท 5.เงินสนับสนุนปลอดดอกเบี้ยสำหรับการดำเนินงานมาตรการทางการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายของเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นจำนวนกว่า 155 ล้านบาท สำหรับปีนี้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นธรรมชาติจะเริ่มออกสู่ตลาดในประเทศ คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์กว่า 100,000 เครื่อง และจะมีส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 50 ในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังตลาดภูมิภาคยุโรปและประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้คาดว่าปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดจนถึงปี 2573 จะสามารถช่วยประหยัดการใช้พลังงานได้สูงถึง 3,500 ล้านหน่วยต่อปี