ธปท.เผยปี 62 แบงก์มีกำไร 2.7 แสนล้านบาท โต 30.8% คาดปีนี้สินเชื่อโตมากกว่า 2% รับโควิด-19 กระทบสภาพคล่องธุรกิจ เผยระบบสถาบันการเงินแกร่งพร้อมรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ เผยสินเชื่อบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวในระดับสูง นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ปี 2562 ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 270,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.8% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนเป็นสำคัญ โดยระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลงเล็กน้อยจากรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและรายได้ค่านายหน้าขายหลักทรัพย์ โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.39% จาก 1.11% ในปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) ทรงตัวที่ 2.73% ทั้งนี้ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2562 ขยายตัว 2% จากปี 2561 ขยายตัว 6% เป็นผลจากสินเชื่อธุรกิจที่มีสัดส่วนถึง 64.1% ของสินเชื่อรวมติดลบ 0.8% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการชำระคืนหนี้ในหลายประเภทธุรกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ติดลบ 1.9% และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีติดลบ 2.1% ด้านสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจขนาดเล็กขยายตัวหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม โดยเฉพาะครึ่งปี 2562 ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่มีสัดส่วน 35.9% ของสินเชื่อรวมขยายตัว 7.5% ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 9.4% เป็นผลจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ในระดับสูง ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 465,000 ล้านบาท หรืออยู่ที่ 2.98% อย่างไรก็ตาม ปี 2562 ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน การออกหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางแห่งหนึ่ง เพื่อรองรับการควบรวมกิจการ รวมถึงการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.6% ด้านเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 701,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32,400 ล้านบาท ส่วนอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ทรงตัวที่ 149.9% ด้านอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติอยู่ในระดับสูงที่ 187.5% ทั้งนี้ ระบบสถาบันการเงินยังสามารถรองรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้นจากการรับรู้กำไรพิเศษเป็นสำคัญ ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ สำหรับแนวโน้มสินเชื่อปี 2563 มีโอกาสขยายตัวมากกว่า 2% โดยหลักมาจากการขยายตัวของกลุ่มสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่หลังมีการประมูล 5G ซึ่งมองว่ามีโอกาสที่จะทำให้สินเชื่อขยายตัวได้ แต่สำหรับ NPL มีโอกาสที่จะเกิน 3% ได้บ้างแต่เชื่อว่าจะสามารถควบคุมได้ในระดับที่เหมาะสม ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับสภาพคล่องของธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่มียอดสินเชื่อสูง 500 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นกลุ่มลูกค้า 2 ใน 3 ของสินเชื่อทั้งระบบจึงจำเป็นต้องดูแลลูกหนี้ธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวด้วย ขณะที่สินเชื่อรายย่อย ดูแลเรื่องการชำระหนี้ และค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม