“ไทยออยล์”ระบุมาร์จิ้นดีขึ้นปรับตัวรับภัยแล้ง-สถานการณ์โลก พร้อมปรับการกลั่นตามความต้องการของตลาด ปีนี้ลงทุน 6 หมื่นล้านบาท นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกที่อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้ของภาคอุตสาหกรรมนั้น บริษัทเริ่มปรับตัวด้วยการประหยัดน้ำ รวมถึงการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ สร้างถังเพื่อรองรับการเก็บน้ำเพิ่มเติม รวมถึงมีการผลิตน้ำจากหน่วยกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด เพื่อผลิตน้ำใช้เอง พร้อมกันนี้ยังเริ่มมองหาแหล่งน้ำจากภายนอกด้วยการเช่าบ่อเก็บน้ำ หากจำเป็นสามารถนำน้ำจากภายนอกเข้ามาเสริมได้ โดยเชื่อว่าจะสามารถรับมือสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ได้ ทั้งนี้แนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้ เบื้องต้นยังขึ้นอยู่กับมาร์จิ้น ส่วนต่าง(สเปรด) ของวัตถุดิบและราคาผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจจะถูกกระทบทางอ้อมบ้างหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการน้ำมันที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่ไม่ได้เติบโตเหมือนที่คาด อย่างไรก็ตามจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตรจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีกจะช่วยพยุงราคาน้ำมัน แม้อาจจะไม่ได้หนุนมาร์จิ้นโดยตรง ขณะที่แนวโน้มมาร์จิ้นของกลุ่มธุรกิจบริษัทปีนี้น่าจะมีทิศทางดีขึ้นจากปีที่แล้วที่ส่วนต่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอยู่ระดับต่ำ ขณะที่ค่าการกลั่น (GRM) อยู่ระดับต่ำช่วงไตรมาส 4/2562 แต่เชื่อว่าหลังจากผู้ประกอบการปรับตัวรับเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันกำมะถันต่ำร้อยละ 0.5 จากเดิมร้อยละ 3.5 มีผลตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้แล้วจะเริ่มเห็นค่าการกลั่นมีทิศทางดีขึ้น “ปีนี้มาร์จิ้นน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วมีปัจจัยหลายเรื่อง ปิโตรเคมีไม่ดี พยายามเตรียม option หลาย ๆ ด้านด้วยประสิทธิภาพที่มี โรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพเชื่อว่าจะ move ได้เร็วเช่น กลั่นน้ำมันกำมะถันต่ำ ตามเกณฑ์ IMO หรือไม่สนใจ IMO ก็ผลิตน้ำมันกำมะถันสูงที่ราคาต่ำก็มีต้นทุนต่ำด้วย ถ้ายืดหยุ่นได้ก็สามารถที่จะสร้างโอกาส และดูเฮดจิ้งราคาบ้าง ตามช่วงเวลา ถ้าปรับตัวได้เร็ว” สำหรับบริษัทในช่วงไตรมาส 1/2563 การกลั่นน้ำมันดำเนินการเต็มที่ โดยคาดว่าจะมีอัตราการกลั่นมากกว่าร้อยละ 11 ซึ่งเป็นภาวะปกติ ส่วนแผนลงทุนปี 2563 การลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่มีมูลค่าการลงทุน 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 275,000 บาร์เรล/วัน เป็น 400,000 บาร์เรล/วัน จะเสร็จพร้อมเดินเครื่องไตรมาส 1/2566 แต่การใช้เงินลงทุนจะมากที่สุดปีนี้อย่างน้อย 60,000 ล้านบาท โดย บมจ.ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 54-59 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังจากราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์ที่ผ่านมา(10-14 ก.พ. 63) ปรับขึ้น 1.73 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.05 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับขึ้น 2.85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.32 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 55.09 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีนลดลงแตะระดับต่ำสุดนับจากวันที่ 30 ม.ค.63 ทำให้ตลาดคลายความกังวลลงบางส่วน นอกจากนี้กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีท่าทีที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ของปี 2563 เพื่อกระตุ้นราคาน้ำมันที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19