โครงข่ายน้ำเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้มีการวางโครงการต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี เพี่อให้ระบบบริหารน้ำสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากเป็นศูนย์กลางผลิตผลไม้หรือฮับผลไม้และเขตอุตสาหกรรม ซึ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลยังได้มีนโยบายโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่ภาคการผลิตสำคัญของประเทศ ปี 63 เมื่อแล้งติดลำดับ2ในรอบ 40 ปี โครงข่ายน้ำที่มีการพัฒนามาต่อเนื่องแม้จะยังไม่สมบูรณ์100% จากข้อจำกัดหลายด้าน จึงถูกใช้บริหารจัดการปัญหาขาดแคลนน้ำ ปีนี้จะได้เห็นการเวียนสลับหมุนวนน้ำในแต่ละอ่างเพื่อเติมเต็มกันและกัน ด้วยพันธกิจแล้งนี้ทุกฝ่ายต้องรอด ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลฯได้วางแผนบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนน้ำหรือแย่งน้ำระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเหมือนในอดีต ในการทำงานจะมีการตกลงร่วมกันของผู้ใช้น้ำทั้งหมด มีการตั้งคณะทำงานใน KEY MAN WARROOM ซึ่งเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนประชุมทุก 15 วัน ดังนั้นการบริหารน้ำภาคตะวันออกจึงเป็นไปตามข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) จะต้องไม่ขาดแคลนน้ำ และประชาชนในภูมิภาคจะต้องมีน้ำอุปโภค บริโภค “ขอยืนยันว่ากรมชลประทานจะดูแลและบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะน้ำอุปโภค บริโภค จะไม่ขาดแคลน และจะไม่ให้กระทบต่อพื้นที่อีอีซี เพราะตระหนักดีว่าเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ในขณะที่ภาคการเกษตร ได้มีการจัดสรรน้ำไว้ให้ตามที่มีการตกลงร่วมกันแล้ว“ ด้านนายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบริหาร เปิดเผยว่า พื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งรวม 430 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปีนี้มีปริมาณน้ำประมาณ 410 ล้านลบ.ม. ยังขาดอีกประมาณ 20 ล้านลบ.ม. เนื่องจากปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจึงต้องจัดหาปริมาณน้ำส่วนที่ขาดอีกทั้งต้องสำรองเพื่อกรณีฝนทิ้งช่วงถึงมิ.ย.2563 กรมได้หารือร่วมกับทุกหน่วยจนที่สุดสามารถลงนามข้อตกลงกับกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำคลองวังโตนดเพื่อขอผันน้ำข้ามลุ่มตามกฎหมายใหม่ โดยจะผันจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรีมาเติมที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จำนวน 10 ล้านลบ.ม. โดยจะผันวันที่ 1-25 มี.ค. ซึ่งอ่างประแสร์เป็นอ่างหลักส่งน้ำให้เขตอีอีซี ปัจจุบันอ่างคลองประแกดมีความจุ 60 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ประมาณ 40-50 ล้านลบ.ม. ในพื้นที่จะใช้ประมาณ 15-20 ล้านลบ.ม. จึงมีน้ำที่จะนำมาช่วยเหลืออีอีซีได้ แต่ระหว่างผันหากปริมาณน้ำกระทบต่ออ่างจะหยุดทันที ในส่วนน้ำที่ยังขาดอีก 10 ล้านลบ.ม.จะมาจาก ที่ประชุมคีย์แมนวอร์รูม ขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรม และการประปาทุกสาขา ลดการใช้น้ำลงกว่า 10 % ปัจจุบันการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่กรมชลฯวางไว้ และในส่วนของบริษัท อีสวอเตอร์ ซึ่งเป็นเอกชนที่ผลิตน้ำป้อนภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงระบบน้ำดังนี้ ให้หาแหล่งน้ำดิบสำรองประมาณ 18 ล้านลบ.ม. ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีแล้ว และให้ปรับปรุงระบบ-สูบกลับ วัดละหารไร่ เพื่อเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล วันละ 100,000-150,000 ลบ.ม. ให้ปรับปรุงระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อเติมอ่างประแสร์อีก 10 ล้านลบ.ม.ให้เสร็จภายในเดือนม.ค.- ก.พ.นี้ และเร่งเชื่อมท่อ ประแสร์-คลองใหญ่ และเชื่อมท่อประแสร์-หนองปลาไหล ให้แล้วเสร็จภายในเดือนม.ค. เพื่อลดการสูญเสียน้ำประมาณ 10-20 ล้านลบ.ม. สำหรับการประปาส่วนภูมิภาคที่ไม่สามารถนำน้ำจากอ่างคลองหลวงมาใช้แทนน้ำที่ขาดจากอ่างบางพระนั้น อธิบดีกรมชลฯสั่งการให้มีการขุดลอกคลองและระบายน้ำจากอ่างคลองหลวงมาที่สถานีสูบน้ำพานทอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร เพื่อสูบมาเก็บที่อ่างบางพระประมาณ 10 ล้านลบ.ม. "จากการเชื่อมโยงน้ำโครงข่ายน้ำ ก็คาดว่าจะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ ประกอบกับในช่วงเดือนเม.ย.- มิ.ย.นี้คาดว่าจะมีฝนในช่วงเปลี่ยนฤดูคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอีกประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. จึงมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ตามที่ฝ่ายนโยบายต้องการ โดยกรมชลประทานจะทำทุกทางเพื่อให้ประชาชนผ่านแล้งนี้ไปให้ได้"นายสุชาติ กล่าว