เมื่อเวลา 11.50 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 เปิดเผยก่อนเข้านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เพื่อหารือเรื่องคำถามพ่วงประกอบประชามติ ว่า การปรับแก้ร่าง รธน.ฉบับผ่านประชามติจะต้องปรับร่างรธน.และคำปรารภเพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์ของบทเฉพาะกาลและคำถามพ่วง จึงมีความจำเป็นต้องหารือกับกรธ. เพราะการแก้ไขครั้งนี้ กรธ.ต้องส่งให้ศาลรธน.พิจารณาภายใน 30 วัน โดยไม่ต้องส่งให้สนช.ดูก่อน เราจึงต้องหารือเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าจะทำอย่างไร ให้คำถามพ่วงไม่กระทบกับบทหลักของร่างรธน. ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรธ.ที่จะตัดสินใจ ทั้งนี้การเข้าพบดังกล่าวเพื่อเร่งรัดกระบวนการให้ทันตามกรอบเวลาโร้ดแม็พ นายสุรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นข้อเสนอนั้น ยืนยันว่การปรับบทบัญญัติส่วนของบทเฉพาะกาลจะมีเฉพาะให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ เท่านั้น โดยจะไม่มีการกระทบต่อบทบัญญัติที่เขียนไว้ แต่หากจะมีผลที่ทำให้กระทบต่อมาตราใดบ้างนั้น อาจเป็นส่วนของบทบัญญัติว่าด้วยการขอให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาใช้รายชื่อคนนอกบัญชีพรรคการเมือง ที่ตามบทบัญญัติมาตรา 272 กำหนดให้เมื่อไม่สามารถเลือกบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ตามบัญชีของพรรคการเมืองที่เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ จะต้องขอให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเพื่องดเว้นบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของอนาคต ยังไม่รู้ว่าจะเกิดจริงหรือไม่ ดังนั้นส่วนตัวตนมองว่ามาตรา 272 ต้องคงเอาไว้เพื่อไว้แก้ปัญหาในอนาคต ซึ่งการคงไว้นั้นจะไม่ใช่การเปิดประชุมรัฐสภาซ้อนรัฐสภา เนื่องจากเป็นคนละประเด็นกัน กล่าวคือ วาระประชุมรัฐสภาแรก คือการลงมติเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่หากเลือกบุคคลในบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ ต้องขอเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเว้นการใช้บัญชีนายกฯของพรรคการเมือง แต่ในรายละเอียดต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าเป็นคนละขั้นตอนอย่างไร “การปรับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงนั้น อาจจะปรับไว้ในมาตรา 272 ก็ได้ แต่ใช้เป็นคนละวรรคกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรธ. ที่จะตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องการเขียนถ้อยคำ ทั้งนี้การเขียนบทบัญญัติคงไม่ต้องถึงขั้นลอกถ้อยคำของคำถามพ่วงไว้ทั้งหมด แต่ขอให้คงสาระสำคัญไว้ ขณะที่รายละเอียดว่าด้วยการออกเสียงลงคะแนนเลือกนายกฯ ขอให้เป็นไปตามกติกาเดิมที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญคือใช้เสียงข้างมากของที่ประชุม เพราะในคำถามพ่วงไม่ได้พูดว่าต้องใช้เสียงส.ว.เท่าใด” นายสุรชัย กล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่าประเมินหรือไม่ว่าในรัฐสภาหน้าจะไม่มีปัญหาเรื่องการเลือกนายกฯ ไม่ได้ นายสุรชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่ารัฐสภาชุดหน้าจะมีเป้าหมายร่วมกัน คือนำประเทศไทยให้เดินหน้าได้ และสมาชิกรัฐสภาต้องเข้าใจสิ่งที่ประชาชนต้องการ อย่างน้อยได้ผ่านประชามติของประชาชนมาแล้ว ดังนั้นประเด็นที่ถามมานั้นไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะคนที่เข้ามาในอนาคตต้องไม่เล่นการเมืองแบบเดิม ขณะที่นักการเมืองต้องปฏิรูปตัวเอง ไม่เล่นการเมืองแบบเดิมอีก.