“ออมสิน”ช่วยลูกค้าธุรกิจท่องเที่ยวจากภัยไวรัสโคโรนา ลดดอกเบี้ยสูงสุด 20% ของดอกเบี้ยจ่าย พักเงินต้นไม่เกิน 2 ปี และขยายเวลาชำระหนี้ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ "โควิด-ไนน์ทีน" (Covid-19)ไปหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งลูกค้าธนาคารออมสินได้รับผลกระทบด้วยนั้น ธนาคารออมสินจึงได้ออกมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระเงินกู้สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระการผ่อนชำระเงินงวด และแบ่งเบาค่าใช้จ่ายให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ธนาคารฯ ได้ลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้ลง 20% ของดอกเบี้ยจ่าย เป็นระยะเวลา 1 ปี(คงเหลืออัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 4%) พร้อมกับให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี โดยระหว่างพักชำระเงินต้นนั้นให้ชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50% ตามความรุนแรงของผลกระทบ ในส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระหรือที่ชำระไม่ครบนั้น ผ่อนปรนให้ชำระได้ภายหลังในระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี และขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 2 เท่าของระยะเวลาพักชำระเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 4 ปี ส่วนลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้ลง 10% ของดอกเบี้ยจ่ายเป็นระยะเวลา 1 ปี (คงเหลืออัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 4%) พร้อมกับให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี โดยระหว่างพักชำระเงินต้นให้ชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 100% และขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกินระยะเวลาพักชำระเงินต้น โดยสามารถติดต่อแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ที่สาขาธนาคารออมสินทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้คุณสมบัติลูกค้าที่สามารถใช้มาตรการนี้ได้ ต้องได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ Covid-19 ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงได้แก่ กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตลอดจนผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการขายส่ง เป็นต้น "จากมาตรการนี้ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และไม่ปิดกิจการ ธนาคารจึงอยากขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ช่วยเหลือแรงงานในกิจการด้วยการไม่เลิกจ้างพนักงานและลูกจ้าง เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้" อย่างไรก็ตามในการประชุมเพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ก.พ.63 ได้มีแนวทางช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลายมาตรการ ทั้งมาตรการเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และมาตรการช่วยเหลือ พนักงาน/ลูกจ้างที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้ค้ารายย่อยและอาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้รายละเอียดอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งธนาคารออมสินมีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาในครั้งนี้