นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กสทช.) เปิดเผยว่า รูปแบบการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz นั้น จะประมูลตามลำดับจากคลื่นย่านต่ำไปคลื่นย่านสูง โดยแต่ละคลื่นความถี่จะประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Allocation Stage) ด้วยรูปแบบการประมูลแบบ Simultaneous Ascending Clock Auction และขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage) ซึ่งจะเปิดให้ผู้ชนะการประมูลแต่ละรายยื่นข้อเสนอราคาสำหรับแต่ละทางเลือก (First-price Sealed-bid Auction) โดยการประมูลครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเลือกใช้การประมูลแบบ clock auction เนื่องจากช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินการประมูล เพราะครั้งนี้เป็นการประมูลคลื่นความถี่ถึง 4 ย่าน โดยเฉพาะคลื่นย่าน 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่งมีจำนวนชุดความถี่ถึง 19 และ 27 ชุดตามลำดับ หากใช้การประมูลแบบเดิมจะใช้เวลาดำเนินการประมูลที่ยาวมาก นอกจากนี้ ระบบการประมูลแบบ clock auction ช่วยให้การระบุราคามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ปัจจุบัน หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ก็เปลี่ยนรูปแบบการประมูลจาก Simultaneous Multi-Round Auction (SMRA) มาเป็นแบบ Clock auction เช่นกัน สำหรับการประมูลแบบ clock auction ดำเนินการโดยเป็นการเสนอจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องการ ณ ราคาประมูล (ที่เพิ่มขึ้น) ในแต่ละรอบ โดยหลังจากการประมูลรอบแรกแล้ว ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถยืนยันจำนวนคลื่นความถี่ที่ต้องการในราคาที่เพิ่มขึ้น หรือลดจำนวนคลื่นความถี่ลง โดยจะต้องระบุราคาที่เต็มใจจ่ายทุกครั้งที่ลดจำนวนคลื่นความถี่ลง ทั้งนี้ การประมูลแบบ clock auction จะสิ้นสุดลงเมื่อความต้องการจำนวนคลื่นความถี่เท่ากับจำนวนคลื่นความถี่ที่เสนอขาย ทั้งนี้ หากในรอบแรกความต้องการจำนวนคลื่นความถี่มีน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนคลื่นความถี่ที่เสนอขายการประมูลจะจบในรอบแรก