นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดียุบพรรคอนาคตใหม่ โดยระบุว่า การต่อสู้ทางการเมือง ในเฮือกสุดท้าย เหมือนรู้ชะตาตัวเองว่าผลของศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเช่นใด การต่อสู้ในช่วงสุดท้าย คือ การให้คู่ต่อสู้ตายตกไปตามกันการใช้กฎหมายที่เอาเปรียบคนอื่น เป็นวิถีทางที่ได้ตัดสินใจเลือกแล้ว แม้จะเสี่ยงต่อการกระทำความผิด แต่เพื่อชัยชนะ จึงไม่คำนึงถึงวิธีใช้ นายเสรี ระบุว่า การที่พรรคการเมืองกู้เงินจากหัวหน้าพรรค ย่อมเป็นรายได้ของพรรคการเมือง แต่มิใช่รายได้ของพรรคการเมืองตามที่ มาตรา 62 ข้างต้นบัญญัติไว้เงินที่เข้ามาในบัญชีของพรรคการเมืองไม่เรียกว่าเป็น “รายได้” แล้วเรียกว่าอะไร “รายได้” ของพรรคการเมืองอาจมีหลายลักษณะ แต่กฎหมายได้ควบคุมเงินที่พรรคการเมืองจะนำมาเป็น”รายได้”ของพรรคการเมืองนั้น จะต้องเป็นรายได้ตามที่ มาตรา 62 ข้างต้น กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อเป็นการควบคุมเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในพรรคการเมืองมิให้เอาเปรียบกัน หรือมิให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน นายเสรี กล่าวอีกว่า ส่วนคนที่หัวหมอก็จะตีความไปในทางที่ว่า เงินที่มิได้อยู่ในมาตรา 62 ข้างต้นนั้น เมื่อกฎหมายมิให้ห้ามไว้ จึงสามารถนำใช้ในพรรคการเมืองได้ โดยตีความว่าเงินกู้ไม่เป็นรายได้ของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการตีความไปในแนวทางที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มาตรา 62 ที่กฎหมายให้พรรคการเมืองมีรายได้เฉพาะที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 62 (1)-(7) เท่านั้น หากเป็นรายได้นอกเหนือจาก (1)-(7) นี้ ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและเป็นความผิด นี่คือหลักการควบคุมรายได้ของพรรคการเมือง มิฉะนั้นแล้ว หากเงินกู้ที่ได้มาโดยไม่อยู่ใน มาตรา 62 (1)-(7) ข้างต้นแล้ว ต่อไปทุกพรรคการเมืองก็จะไม่ต้องไปหารายได้ตาม (1)-(7) เพียงแต่ไปกู้เงินจากนายทุนเงินกู้มาใช้จ่ายในพรรคการเมืองมาใช้จ่ายทั้งหมด จากนั้น นายทุนเงินกู้เมื่อได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญ ก็จะยกหนี้ให้ไม่ต้องใช้หนี้ ก็จะกลายเป็นการได้เงินมาใช้จ่ายในพรรคการเมืองจำนวนมากได้อย่างไม่มีจำกัดและไม่เป็นความผิด ก็จะกลายเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ไม่ต้องการให้พรรคเป็นของนายทุน และพรรคไม่อาจทำให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนไปได้ "การที่พรรคการเมืองกู้เงินมาใช้จ่าย โดยบอกว่าเงินกู้ไม่เป็นรายได้ตามมาตรา 62 จึงเป็นความผิดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน ปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น การต่อสู้ครั้งสุดท้าย จึงต่อสู้แบบเอาพรรคเข้าแลก โดยการสร้างความขัดแย้งไปทั่ว ตั้งแต่โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในทุกเรื่องทุกประเด็นที่ตนเองเสียประโยชน์ เพื่อจะเป็นข้ออ้างว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องยุบพรรคนั้น เกิดจากการไปขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ไปขัดแย้งด้วยเลย สร้างวาระกรรมว่ารัฐบาลปัจจุบันมาจากการสืบทอดอำนาจ เพื่อให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกว่าที่จะถูกยุบพรรคเพราะไปขัดแย้งกับรัฐบาล สร้างวาทะกรรม พาดพิงมายังวุฒิสภาตลอดมาว่า วุฒิสภาเป็นผลพวงจากรัฐประหารและมาจากการสืบทอดอำนาจ ก็เพื่อให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกว่าที่จะถูกยุบพรรคนั้น เพราะมีความขัดแย้งกับวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช.ซึ่งเป็นฝ่ายทหาร" นายเสรี กล่าว นายเสรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ เป็นเวลาที่ใกล้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะได้ตัดสินในเรื่องของการกู้เงินของพรรคการเมือง ก็เกิดปฏิกิริยา สร้างม๊อบ จัดเวที สร้างกลุ่มให้ประชาชนออกมาสนับสนุน เพื่อเรียกร้องหาความเป็นธรรม ทั้งๆที่ปัญหาทั้งหลายตนเองเป็นผู้ก่อขึ้นทั้งสิ้น เล่นการเมืองแบบไม่รับผิดชอบ เสนอแนวนโยบายที่สร้างปัญหาให้บ้านเมืองหลายเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่ตนเองก่อขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งการสร้างประเด็นให้เป็นความขัดแย้งทั้งหลายข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นเป็นสัญญาณได้ว่า “รู้ชะตากรรม” ของตนเองว่าเป็นเช่นใด จึงได้ใช้วิธีการต่อสู้ดิ้นรน ขัดแย้งกับทุกฝ่ายเป็นเฮือกสุดท้าย เพื่อจะบอกว่า “ถูกกลั่นแกล้ง” หรือ “ถูกรังแก” ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นช่วงนี้ สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือการสร้างความขัดแย้งให้มากเข้าไว้ เพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะตัดสินในเวลาอันใกล้ว่า “จะถูกยุบพรรค”หรือไม่ หากว่ากันตามเหตุผล และตามกฎหมายแล้ว ผมเห็นว่า การที่พรรคการเมืองกู้เงินมาใช้ในลักษณะเช่นนี้ เป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งมันผิดกฎหมายชัดๆ แต่ก็คงต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเช่นใด "ศาลทุกศาล รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตัดสินคดีความไปตามกฎหมาย ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกดดันศาลในการตัดสินคดี มิฉะนั้น จะกลายเป็นกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายในที่สุด ก็จะตัดสินกันเอง ไม่เคารพกฎหมาย บ้านเมืองกลียุค อันจะทำให้บ้านเมืองอยู่ไม่ได้" นายเสรี กล่าว