อ.ส.ค.อัดแคมเปญ “Red Cowniwoww” รุกตลาดนมไทย-เดนมาร์คในกัมพูชา มุ่งยกระดับตำแหน่งตราสินค้าให้ทันสมัยก้าวสู่พรีเมี่ยม พร้อมขยายฐานผู้บริโภค จับมือ 3 ตัวแทนจำหน่ายบุกธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม วางเป้าดันยอดขายโตกว่า 22% มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท เล็งมาเลฯเป็นประตูการค้า ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า อ.ส.ค.ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดอย่างครบวงจรในประเทศกัมพูชา ภายใต้แคมเปญ “Red Cowniwoww” (เรด คาวนิว๊าว) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และตราสินค้าไทย-เดนมาร์คเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคชาวกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น พร้อมยกระดับตำแหน่งตราสินค้า (Brand Positioning) ให้มีความทันสมัยและมีความเป็นพรีเมี่ยมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการประชาสัมพันธ์ในโอกาสครบรอบ 55 ปี ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ทั้งยังช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายผลิตนมไทย-เดนมาร์คในตลาดกัมพูชา และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายระบายสินค้าคงคลังตามข้อมูลประมาณการน้ำนมดิบปี 2560 ด้วย ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า การจัดแคมเปญ “Red Cowniwoww” ในกัมพูชา ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ การผลิตภาพยนตร์โฆษณานมไทย-เดนมาร์คชุดใหม่โดยมี “นารา ยิม” ดาราวัยรุ่นชื่อดังชาวกัมพูชาเป็นพรีเซนเตอร์ การออกอากาศสื่อโฆษณาโทรทัศน์ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือนและโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดซึ่งมีหลากหลายกิจกรรม เช่น คอนเสิร์ตจากศิลปินดารานักร้อง ออกร้านจำหน่ายสินค้าและจัดโปรโมชั่น การเล่นเกมส์แจกของรางวัลและของที่ระลึก และการให้บริการตรวจสุขภาพ เป็นต้น มุ่งขยายฐานผู้บริโภคนมไทย-เดนมาร์คในกัมพูชาเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มผู้บริโภคอายุระหว่าง 12-25 ปี กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน และกลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ ผู้บริโภคอายุ 25 ปีขึ้นไป รวมถึงกลุ่มแม่บ้านและผู้บริโภคทั่วไป “สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปจำหน่ายยังกัมพูชานั้น อ.ส.ค.ยืนยันว่า มีคุณภาพและมีความปลอดภัยภายใต้มาตรฐานการผลิตเดียวกันกับสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งนมทุกหยดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นนมโคสดแท้ 100% ไม่ผสมนมผง เป็นจุดแข็งที่ตอกย้ำความเชื่อมั่นและทำให้ชาวกัมพูชาเลือกตราสินค้าไทย-เดนมาร์ค ซึ่งปัจจุบันชาวกัมพูชาได้มองเรื่องคุณภาพและคุณค่าของนมที่บริโภคเพิ่มมากขึ้น” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า ปี 2559 ที่ผ่านมา อ.ส.ค.ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์นม ยู.เอช.ที. ไทย-เดนมาร์คไปยังประเทศกลุ่มเออีซี (AEC) ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า มีมูลค่าส่งออกรวม 1,068.49 ล้านบาท โดยกัมพูชาถือเป็นตลาดส่งออกหลัก มีมูลค่าส่งออก ประมาณ 796.47 ล้านบาท คิดเป็น 74.54% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปี 2560 นี้ อ.ส.ค.คาดว่า ช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คในประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศดังกล่าวจะเติบโตมากขึ้น มีเป้าหมายส่งออกรวมไม่น้อยกว่า 1,100 ล้านบาท โดยเฉพาะตลาดกัมพูชา อ.ส.ค.ตั้งเป้าส่งออก 70-80% ของเป้าหมายรวม หรือประมาณ 800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 22% ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยอดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์คในต่างประเทศเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ คาดว่า การจัดแคมเปญ Red Cowniwoww จะช่วยผลักดันยอดขายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คในกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คที่ได้รับความนิยมในประเทศกัมพูชา คือ นม ยู.เอช.ที. รสหวาน อนาคตคาดว่า เทรนด์การบริโภคนมในกัมพูชาจะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยนมรสจืด รสช็อคโกแลต รสสตรอเบอร์รี่ และนมพร่องมันเนยจะได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง อ.ส.ค.จะส่งเสริมและร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายหรือเอเย่นที่แข็งแกร่งในกัมพูชา จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท จิระภา จำกัด บริษัท บอร์เดอร์พลัส จำกัด และ หจก.บ่วงหลี ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายฐานตลาดและขยายกลุ่มผู้บริโภคนมไทย-เดนมาร์คในกัมพูชาเพิ่มขึ้น อาทิ การจัดโปรโมชั่นและกระจายสินค้า การขยายช่องทางจำหน่ายในธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ยังสามารถที่จะเติบโตได้อีก ขณะเดียวกันยังมีแผนเร่งศึกษาสำรวจข้อมูลตลาดนมในกัมพูชาอย่างจริงจังและปรับแผนกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อแข่งขันกับสินค้าคู่แข่งที่วางขายในท้องตลาดกัมพูชากว่า 10 ยี่ห้อ อาทิ ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลือง อังกอร์มิลค์ อินโดมิลค์ และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมผงหลายยี่ห้อ เป็นต้น “นอกจากจะขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คไปยังตลาดกัมพูชา ลาว และพม่าแล้ว ประเทศมาเลเซียเป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกที่น่าสนใจ มีความเป็นไปได้และมีศักยภาพสูง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนสุดท้าย คือ ส่งเอกสารรับรองเพิ่มเติมจากกรมปศุสัตว์ให้ทางมาเลเซียพิจารณาอนุญาตนำเข้า คาดว่า ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ อ.ส.ค.จะสามารถเปิดตลาดส่งออกนมไทย-เดนมาร์คไปยังมาเลเซียได้ อนาคตคาดว่า มาเลเซียจะเป็นประตูส่งออกสินค้าขยายไปสู่ตลาดสิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย รวมถึงกลุ่มประเทศมุสลิมอื่นๆ ด้วย” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว