"ศักดิ์สยาม" พอใจทดลองติดเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่บนรถเมล์ ขสมก. ช่วยลดค่าฝุ่น PM 2.5 จ่อติดเพิ่มครบ 3,000 คัน เตรียมรายงาน ครม.รับทราบ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงการทดลองติดเครื่องฟอกอากาศบนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า จากการรายงานผลการทดสอบของคณะทำงานฯ ที่ได้ทดสอบกับรถเมล์ ขสมก. 1 คันแล้วนั้น พบว่า การทดสอบอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ เมื่อรถเมล์ ขสมก.ที่ติดเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถ สูงประมาณ 25 ซม. โดยมีไส้กรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งหากใช้ความเร็วเฉลี่ย 20 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น สามารถกรองอากาศได้ 20,000 ลูกบาตรเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ก่อนที่อากาศจะผ่านเครื่องฟอกอากาศนั้น พบว่า เครื่องวัด PM 2.5 ระบุค่าวัดอยู่ที่ 48-51 ไมครอน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่มีพบฝุ่น PM 2.5 แต่เมื่อผ่านเครื่องกรองอากาศแล้ว อากาศที่ออกมาอยู่ที่ 1-2 ไมครอนเท่านั้น ถือว่าต่ำมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการทดสอบ 30 วัน ก่อนที่จะประเมินผล และนำไปดำเนินการกับรถเมล์ ขสมก. ที่มีกว่า 3,000 คันในปัจจุบัน, รถ บขส. และรถของราชการด้วย ขณะเดียวกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ก่อนรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการในเรื่องของ PM 2.5 ต่อไป “ขณะนี้ ยังถือเป็นเรื่องของการทดสอบ เพราะฉะนั้น ตัวแบบวัสดุรูปแบบที่จะนำมาทำต้องใช้เวลา และจุดที่ติดตั้งถ้าไม่ติดบนหลังคา แต่นำมาติดตรงบริเวณเหนือกันชน จะมีประสิทธิภาพในการรับอากาศได้มากน้อยแค่ไหน ความมั่นคงแข็งแรงเป็นอย่างไร ต้องรอดูผลการทดสอบต่อไป โดยรถเมล์ ขสมก.ที่มี 3,000 คันนั้น จากผลการทดสอบ หากนำมาติดนั้น จะฟอกอากาศทั้งวันได้ 30 ล้านลูกบาตรเมตร ถือเป็นการช่วยฟอกอากาศตามเส้นทางที่รถวิ่ง โดยในอนาคต คณะทำงานจะออกแบบรูปแบบให้ประชาชนนำแบบไปดำเนินการได้เอง ผู้สร้างควรเป็นผู้ซ่อม ไม่ใช่ว่าผู้สร้างไม่รับผิดชอบในการที่จะแก้ไขปัญหาแบบนี้ก็ลำบาก เราต้องช่วยกัน” นายศักดิ์สยาม กล่าว นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงเรื่องต้นทุนในการดำเนินการว่า เบื้องต้นราคากล่องอยู่ที่ 2,000 บาทต่อกล่อง ขณะที่ไส้กรองราคาประมาณลูกละ 500 บาท ใช้ได้ประมาณระยะเวลา 400 ชม. หรือ 2 สัปดาห์ รวมประมาณ 3,000 บาท แต่ยังกำหนดชัดเจนไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างจัดทำต้นแบบนำร่องมาทดลอง โดยคณะทำงานได้เสนอว่า หากใช้วัสดุเป็นไฟเบอร์กลาส แล้วสามารถทำได้ จะทำให้ต้นทุนลดลง รวมถึงโดยในอนาคตมองว่า ถ้าศึกษาอย่างจริงจัง จะสามารถพัฒนาไส้กรองขึ้นมาเองได้จะช่วยให้ต้นทุนต่ำลงได้อีกด้วย ทั้งนี้ ได้นำงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่ในปัจจุบันมีเงินในกองทุนฯ ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท มาใช้ดำเนินการ ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ ขบ. ไปพิจารณาโครงการจัดทำป้ายทะเบียนพิเศษ ซึ่งเจ้าของรถสามารถกำหนดชื่อเฉพาะจองตัวเอง ลงไปในป้ายทะเบียนได้ แทนตัวอักษร และจังหวัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น บุรีรัมย์ยูไนเต็ด เป็นต้น โดยในต่างประเทศที่ได้ใช้แล้ว คือ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ในส่วนของประเทศไทย ได้เคยจัดทำป้ายทะเบียนพิเศษในช่วงการประชุม Asean Summit มาแล้วด้วย สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้น เพื่อนำเงินจากผู้ที่สนใจป้ายทะเบียนพิเศษนั้น เข้ากองทุน กปถ. และนำมาใช้ในโครงการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถเมล์ ขสมก. จำนวน 3,000 คัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 //