และแล้วประเทศไทยก็ได้มีเทคโนโลยีคลื่นความถี่ 5G ได้ใช้ในคลื่นความถี่ย่าน 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ อย่างเป็นทางการ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กสทช.) ได้จัดให้มีการประมูลขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ โอเปอเรเตอร์ ตบเท้าเข้าร่วมประมูลกันพร้อมหน้า “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า กสทช. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 700, 1800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับ 5G พบว่า โอเปอเรเตอร์ 5 ราย ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี), บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือดีแทค บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติครบทุกราย ทั้งนี้พบว่าโอเปอเรเตอร์สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ใน 3 ย่าน ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 2600 และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดสนใจเข้าร่วมประมูล เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่ที่โอเปอเรเตอร์ถือครองอยู่แล้ว คาดว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะมีการแข่งขันกันดุเดือด เนื่องจากมีโอเปอเรเตอร์ 3 รายได้แก่ เอไอเอส ทรู และแคท ยื่นคำขอรับใบอนุญาต โดยคลื่นดังกล่าวนำออกประมูล จำนวน 3 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท นอกจากนี้ โอเปอเรเตอร์ 3 ราย ยังยื่นคำขอรับใบอนุญาตในคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยซึ่งคลื่นความถี่นี้นำออกประมูล จำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 190 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ มีโอเปอเรเตอร์ 4 ราย ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ได้แก่ เอไอเอส ทรู ดีแทค และทีโอที โดยคลื่นดังกล่าวนำออกประมูล จำนวน 27 ชุด ชุดละ 100 เมกะเฮิรตซ์ รวม 2700 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท “ตรวจสอบเอกสารของผู้มายื่นประมูล พบว่า ย่านที่แข่งขันสูง ได้แก่ คลื่น 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากมีการยื่นประมูลของ 3 ผู้ประกอบการ คือ เอไอเอส ทียูซี และกสทฯ ทั้งนี้ พบว่า ดีแทคยื่นประมูลเพียงย่านเดียว คือ 26 กิกะเฮิรตซ์เช่นเดียวกับทีโอที ต่อมาทียูซีและเอไอเอสยื่นประมูล 3 ย่านคือ 700 กับ 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ส่วนกสทฯยื่นประมูล 2 คลื่น คือ 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น จากการแข่งขันซึ่งน่าจะมีการเคาะราคาขั้นต่ำ 1-2 ครั้งในแต่ละย่านความถี่ จึงเชื่อว่าจะทำให้ราคาประมูลที่คาดการณ์ว่าจะทำรายได้เข้ารัฐได้มากกว่า 70,000 ล้านบาท ขายใบอนุญาตออกได้มากเกิน 32 ใบอนุญาต” ฐากร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามคาดว่าการประมูลคลื่นความถี่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการพัฒนา 5G ในปี 2563 ขับเคลื่อน คิดเป็นมูลค่า 1.77 แสนล้านบาท คิดเป็นงบลงทุนของผู้ชนะประมูล 1.1 แสนล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 82,841 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.02 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ทั้งนี้เพื่อให้การขับเคลื่อน5G ตามนโยบายของรัฐบาล กสทช.ได้กำหนดให้สามารถรับใบอนุญาตได้ทันทีภายในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ขณะที่ “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อลงสู่ทุกภาคส่วนของสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วว่า การประมูลคลื่นความถี่ มีความมุ่งหวังจะปรับปรุงโครงสร้างของประเทศทุกด้าน ทั้ง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเกษตร รัฐบาลขอให้ กสทช.เร่งให้บริการ 5G เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน รองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในด้านการสาธารณสุข ให้มีการพัฒนาให้เกิดโรงพยาบาลอัจฉริยะในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน ภาคการเกษตรรองรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการผลิต ด้านอุตสาหกรรม ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ภาคการศึกษาช่วยให้เยาวชนเข้าถึงการศึกษาที่ทันสมัยรอบด้าน ด้านสังคมและชุมชนให้มีการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสตาร์ตอัพระดับท้องถิ่น รัฐบาลขอขอบคุณ กสทช. ที่จะจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อพัฒนา5G จึงขอให้การประมูลเป็นไปด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม เช่นเดียวกับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ 5 G ถือว่ามีความสำคัญเพราะว่าเทคโนโลยี 5 จี สามารถพลิกประสิทธิภาพในองค์การธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ รองรับการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้สั่งให้ กสทช. ต่อยอดการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยี 5 จี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพดังกล่าว รวมถึง “นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอีพร้อมต่อยอดหลังการประมูลคลื่น 5G การขยายเครือข่าย การกระจายคลื่น ระบบการศึกษา การรักษาพยาบาลในทุกหน่วยงานจะบูรณาการให้ใช้ 5G ได้ประโยชน์ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การสนับสนุน การทำแพลตฟอร์ม แอพพลิเคชั่น การทำบิ๊กดาต้า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้านมุมมองของฝากโอเปอเรเตอร์ ซึ่งมีความคิดเห็นในการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ โดย “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า แนวโน้มในไทยปี 2564 ถึงจะเกิดการเทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์ในภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งมองว่าการพัฒนารูปแบบการใช้งานในปี 2563 ถือว่าเร็วเกินไป ส่วนการก้าวสู่การให้บริการ 5G ของกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมโอเปอเรเตอร์ ต้องมีคลื่นความถี่รายละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการจัดสรรจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากทางภาครัฐด้วย “พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์” หัวหน้าคณะทำงาน และกรรมการยุทธศาสตร์ 5G ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยพลาดการลงทุนในยุค 5G ก็จะกลายเป็นพลาดการลงทุนในระยะยาวจากนักลงทุนต่างประเทศที่วางแผนล่วงหน้ากันเป็นสิบๆ ปี ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุค 3G และ 4G ที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มให้บริการก่อน ดังนั้นทรูจึงมองว่าการลงทุน 5G ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน “ชารัด เมห์โรทรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค การเข้าประมูลครั้งนี้เป็นการยืนยันตามคำสัญญาของดีแทคที่ว่า “จะไม่หยุด” ในการพัฒนาโครงข่ายและคุณภาพบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า “พิพัฒน์ ขันทอง” กรรมการ บมจ.ทีโอที รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ทีโอทีจะนำไปพัฒนาบริการสาธารณประโยชน์ต่อสังคมในพื้นที่ห่างไกล ต่อการแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา ความมั่นคง และยกระดับโครงสร้างด้านโทรคมนาคม และบริการดิจิทัลที่จะตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ เป็นกลไกหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อน 5G ของประเทศ เป็นความภาคภูมิใจของ ทีโอที ที่จะมีส่วนในการให้บริการบนเครือข่าย 5G ทั้งในด้านของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการเพื่อสาธารณะในพื้นที่ห่างไกล เป็นประโยชน์สังคมและประเทศชาติ และ “พ.อ.สรรพชัย หุวะนันท์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท กล่าวว่า กสทฯ ต้องการคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์เช่นเดียวกับโอเปอเรเตอร์รายอื่น จะทำให้เกิดการแข่งขันสูง และแคทต้องขยายเสาสัญญาณจำนวนมาก ต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น แต่หากเข้าร่วมประมูลความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นใกล้เคียงกับคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่กสทฯ มีอยู่กับบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จะช่วยให้ลดการลงทุน ประกอบกับคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ที่โอเปอเรเตอร์ทั้งสามรายมีอยู่แล้ว ทำให้การแข่งขันด้านราคาไม่สูงเกินไป ลุ้นกันต่อไป....หลังจากนี้ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยี5Gที่ไม่ด้อยกว่าประเทศในเอเชีย! สามารถนำพาเศรษฐกิจประเทศไปสู่แถวหน้าของเอเชียได้หรือไม่!?! ไม่นานได้เห็น!!!