หนึ่งในของขวัญแสนหวานวันวาเลนไทน์ นอกเหนือจากดอกไม้ คือ ช็อกโกแลต เพจ “นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ฉลาดซื้อได้เคยทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนักในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต เมื่อเดือนก.ย.ปี 60 ซึ่งสามารถอ่านลิงค์ฉบับเต็มได้ที่ https://chaladsue.com/article/2656/ ทั้งนี้ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างช็อกโกแลต 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ดาร์กช็อกโกแลต 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตอื่นๆ อีก 9 ตัวอย่าง เมื่อส.ค.-ก.ย.60 เพื่อทดสอบหาการปนเปื้อนของโลหะหนัก แคดเมียม และตะกั่ว ซึ่งเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานในประเทศและต่างประเทศแล้ว ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม สารแคดเมียมนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต และในระดับสากลก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ณ ปัจจุบัน ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องตระหนักว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตหรืออาหารที่มีการผสมช็อกโกแลต จะยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กๆ จะอ่อนไหวเป็นพิเศษ ผู้ปกครองจึงควรให้ความสนใจและฝึกให้รับประทานแต่พอดี เพราะช็อกโกแลตแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็มีคาเฟอีนอยู่บ้างเช่นกัน บางยี่ห้ออาจมีน้ำตาลค่อนข้างสูง จึงควรอ่านส่วนประกอบก่อนเลือกซื้อ และแบ่งบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ขณะที่ช็อกโกแลตทำมาจากโกโก้ และแหล่งผลิตโกโก้ปัจจุบันยังมีมลพิษสูง จึงอาจปนเปื้อนโลหะหนักได้ เช่น แคดแมียม ตะกั่ว สำหรับสารแคดเมียม ซึ่งมักจะพบปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมบริเวณเหมืองสังกะสี อุตสาหกรรมตะกั่ว ยาสูบ-บุหรี่ พลาสติก-ยาง อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ อุปกรณ์ไฟฟ้า อะไหล่รถ อุตสาหกรรมเพชรพลอย หากปนเปื้อนในน้ำ-อาหาร หรือยาสูบ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดมะเร็งไต โรคความดันโลหิตสูง ปวดกระดูกสันหลัง แขนขา ทำให้ไตพิการ หรือที่เรียกว่า โรคอิไต-อิไต ซึ่งเกิดจากพิษจากแคดเมียม EFSA หรือ กลุ่มงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป รายงานว่า พบปริมาณแคดเมียมในช็อกโกแลตชนิดต่างๆ มีค่าสูงมาก และยังมีความแตกต่างไปตามปริมาณของโกโก้ที่ผสมในผลิตภัณฑ์ โดยเมล็ดโกโก้(cocoa bean) นั้นเป็นแหล่งสะสมของแคดเมียม ทำให้ช็อกโกแลตที่มีปริมาณโกโก้แมสระหว่าง 35-70% พบแคดเมียมสูงกว่าช็อกโกแลตนมหรือช็อกโกแลตอื่น ขณะที่ สารตะกั่ว นอกจากจะพบในน้ำมันเบนซิน ยังพบในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์-คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สารตะกั่วเข้าทางร่างกายได้ 3 ทางคือ ปนเปื้อนทางอาหาร ทางการหายใจ และผิวหนัง ส่งผลทำให้เกิดโรคมะเร็ง และพิการแต่กำเนิดได้ โดยแคดเมียมและตะกั่วในช็อกโกแลตนั้น ส่วนใหญ่มาจากแหล่งปลูกโกโก้ ซึ่งเป็นการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โลหะหนักทั้งสองเมื่อเข้าไปปนอยู่ในน้ำและในดินหากมีปริมาณสูง การปลูกพืชบริเวณนั้นจะมีปริมาณโลหะทั้งสองในพืชสูงตามไปด้วย แน่นอนว่าการปนเปื้อนโลหะไม่อาจทำลายได้ด้วยความร้อนอย่างจุลินทรีย์ ดังนั้นผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องคัดเลือกวัตถุดิบจากแหล่งที่ปลอดภัย เพื่อลดการปนเปื้อนของแคดเมียมและตะกั่ว ทุกวันนี้ ร้อยละ 70 ของโกโก้ในตลาดโลกมาจากแถบแอฟริกาตะวันตก และเป็นที่รู้กันว่าการปลูกโกโก้กับการบุกรุกป่าสงวนนั้นมีมานาน แม้ปัจจุบันจะมีการส่งเสริมปลูกโกโก้ที่ไม่เอาเปรียบทั้งสิ่งแวดล้อมและเกษตรกร แต่การผลิตแบบ “ผิดกฎหมาย” ก็ยังมีอยู่มาก จนแทบจะไม่สามารถแยกแยะได้เพราะผลผลิตจากการปลูกทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายถูกนำมาผสมรวมกันก่อนจำหน่าย โดยบริษัทผลิตช็อกโกแลตหลายยี่ห้อประกาศจุดยืนจะจัดซื้อโกโก้ที่มาจากแหล่งถูกกฎหมายเท่านั้น แต่กระนั้นก็ยังมีบางยี่ห้อที่ดังๆ ยังคงเพิกเฉย