กรมชลประทาน : นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลาพร้อมรับข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ กรณีขอให้กรมชลประทานพิจารณาดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา โดยมีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการรับข้อเสนอ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธิ์ จังหวัดสงขลา รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำมาตลอด โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่แห่งเดียวในประเทศไทย จึงมีแนวคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาทะเลสาบสงขลา โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2514 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ได้เริ่มทำการศึกษาโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา โดยได้เสนอแนวคันกั้นน้ำเค็มไว้ 3 แห่ง ดังนี้ SiteA เกาะใหญ่-แหลมจองถนน SiteB เกาะโคป-ปากพะยูน SiteC ปากรอ ต่อมาในปี 2527 จนถึงปี 2548 ได้มีการศึกษาถึง ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการก่อสร้างโครงการมาโดยตลอด ซึ่งจากการศึกษาและสำรวจแล้ว พบว่า โครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มบริเวณเกาะใหญ่-แหลมจองถนน(SiteA) มีความเหมาะสมที่สุด แต่เนื่องจากคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีมติเห็นควรยกเลิกการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา ในปี 2548 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา เมื่อปี 2549 โดยให้พิจารณาแนวทางเลือกอื่นในการจัดหาน้ำให้เกษตรกร และปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อย พร้อมหาอาชีพนอกภาคเกษตร แทนการก่อสร้างโครงการฯ ต่อมา กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาทางเลือกอื่นในการจัดหาน้ำให้เกษตรกร ในปี 2553-55 โดยดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆ และกำหนดแผนการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธิ์ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้แบ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ดำเนินการประชาสัมพันธ์พร้อมประกาศภัยแล้งฉุกเฉินในพื้นที่ ระยะกลาง ดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการดำเนินการขุดลอกคลองธรรมชาติที่มีอยู่ โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ของราษฎร เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้นในฤดูน้ำหลาก รวมทั้งสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งมากขึ้นด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาภาพรวมของลุ่มน้ำ พร้อมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่งจะบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน พิจารณาทุกแนวทาง ในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีน้ำจืดเพียงพอต่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งเกษตรกรรมในพื้นที่อำเภอระโนดและพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป.