วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มข. พร้อม ศ.ดร.พวงรัตน์ ยงวนิชย์ ประธานมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี และคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ได้แก่ นพ.เรืองศิลป์ เถื่อนนาดี ,พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ,คุณรัชนี ชนะวงศ์ รวมถึงคณะทำงานศูนย์ความเป็นเลิศมะเร็งท่อน้ำดี และพยาบาลโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้ร่วมเดินรณรงค์สร้างความตระหนักและให้ความรู้กับประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ให้ทราบถึงภัยและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องในวันมะเร็งท่อน้ำดีโลก "World Cholangiocarcinoma Day" รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว กล่าวว่า วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันมะเร็งท่อน้ำดีโลก” (World Cholangiocarcinoma Day) โดยในปีนี้ มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี และภาคีเครือข่ายหลัก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมเดินรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เกี่ยวกับการป้องกันและกำจัดพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี และได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุการเกิดโรคและอุบัติการณ์โรคมะเร็งท่อน้ำดีของประเทศไทย ที่นับเป็นมฤตยูเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยไปกว่าปีละกว่า 20,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ทางสถาบันฯ และมูลนิธิฯ จึงขอความร่วมแรงร่วมใจทุกภาคส่วนสร้างความตระหนักรับรู้ร่วมกันถึงภัยจากปัญหานี้ และช่วยกันป้องกันกำจัดโรคนี้ให้หายไปจากประเทศไทย มะเร็งท่อน้ำดี จากที่เคยพูดกันว่า ผ่าก็ตาย ไม่ผ่าก็ตาย กันมาหลายปี แต่ปัจจุบันนี้มะเร็งท่อน้ำดีรักษาให้หายขาดได้ถ้าพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 พบว่าการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีมีการพัฒนาที่ดีขึ้น การวินิจฉัยโรคทำได้ดีขึ้น มีความก้าวหน้าของรังสีวินิจฉัยมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้อัลตราซาวด์ (ultrasonography) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography scan; CT) และการทำเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging;MRI) มีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด ประกอบกับเทคนิคด้านการให้ยาสลบที่ดีขึ้นมาก และที่สำคัญคือเทคนิคการผ่าตัดก็มีการพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลง อัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดลดลง ทำให้ผลการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีโดยการผ่าตัดดีขึ้นมาก ก่อนหน้านี้โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ คือตัวเลขสถิติทางการรักษาด้วยการผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2552 ถูกรายงานเป็นครั้งแรกว่า มีอัตราการรอดชีวิตหลังการผ่าตัดไปแล้ว 5 ปีเฉลี่ยสูงถึง 21% และในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 47% ซึ่งจากเดิมมักตายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ การรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีทำได้ด้วยการผ่าตัด และแพทย์สามารถรักษาให้หายขาดได้ถึง 20% แต่การผ่าตัดผู้ป่วยกลุ่มนี้ในแต่ละครั้งกินเวลายาวนานถึง 6 – 9 ชั่วโมง และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงถึงรายละกว่า 300,000 บาท ดังนั้นแพทย์ 1 คน จึงสามารถผ่าตัดผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้เต็มที่ 300 กว่ารายภายในหนึ่งปี โดยที่ต้องใช้เวลาจดจ่ออยู่กับการผ่าตัดโรคนี้อย่างมาก ร้ายลึกลงไปกว่านั้น แพทย์ที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดมะเร็งท่อน้ำดีก็มีจำนวนไม่มาก แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่า หากผู้ป่วยตรวจพบก่อน และมารับการรักษาในระยะเริ่มต้น ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น มีโอกาสหายขาดได้ถึง 60% และเสียใช้ค่าจ่ายในการรักษาถูกกว่ามาก “โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของโรคมะเร็งทุกชนิดในประเทศไทยพบมากในภาคอีสาน วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงรับประทานปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ด เช่น ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาสร้อย ปลากะสูบ ปลาแม่สะแด้ง ปลาซิว ปลาแก้มช้ำ ปลาขาวนา ปลาเหล่านี้หาได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำในภาคอีสาน แบบสุกๆ ดิบๆ เช่น ทำเป็น ก้อยปลาดิบ ลาบปลาดิบ ปลาส้ม ปลาร้าที่หมักไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยตัวอ่อนของพยาธิสามารถไชเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในท่อน้ำดีและมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 20 ปี และจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในท่อน้ำดีและเกิดเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการติดเชื้อ เราจะยังไม่ได้เป็นมะเร็งในทันที แต่กระบวนการก่อมะเร็งที่บริเวณท่อน้ำดีในตับจะใช้เวลาอย่างน้อย 20-30 ปีจึงจะตรวจพบก้อนเนื้อร้ายดังนั้นชาวบ้านจึงมักไม่ตะหนักที่จะเลิกนิสัยการบริโภคปลาดิบ และซ้ำร้ายยังใช้วิธีกินยาถ่ายพยาธิเอา ทำให้มีพฤติกรรมแบบติดพยาธิซ้ำซาก ส่งผลให้เกิดภาวะอักเสบแบบเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี” รศ.นพ.ณรงค์ กล่าว