“ปิยบุตร” ตั้งคำถามคำวินิจฉัย "ศาลรัฐธรรมนูญ" คดี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ - ชี้มีแค่ 2 ทางคือตกหรือไม่ตก - ห่วง "ศาล รธน." ขยายอำนาจจนอยู่เหนือ "รัฐธรรมนูญ" ! วันที่ 12 ก.พ.63 ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) พรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงท่าทีต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรลงมติแทนกัน ระหว่างการลงมติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้สภาผู้แทนราษฎรกลับมาลงมติใหม่ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ทั้งนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ด้วยความที่ระบบของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลกทำให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร จึงต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญให้จำกัดอำนาจศาลไว้ ว่ามีอำนาจสั่งอะไรได้เพียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น มิเช่นนั้น นานวันเข้าศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญ นายปิยบุตร กล่าววว่า คำร้องที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านส่งไปตามมาตรา 148(1) ขอให้ตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นเรื่องการตราพระราชบัญญํติ เมื่อมีการเสียบบัตรแทนกันทำให้กระบวนการนี้ชอบหรือไม่ ซึ่งถ้าไปที่อ่านวรรคสาม มาตรา 148 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นว่ากระบวนตราไม่ชอบ ศาลทำได้เพียงอย่างเดียวคือวินิจฉัยให้ร่างตกไปทั้งฉบับ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าชอบ ก็เดินหน้าต่อโดยส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทางเลือกของศาลรัฐธรรมนูญมีแค่สองทางนี้เท่านั้น แต่กรณีข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา อ่านแล้วจะงงในตัวเอง คือ ท่อนแรก ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า การเสียบบัตรแทนกันย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่พอมาถึงตอนท้ายกลับบอกว่าร่างนี้ไม่ตกเพราะคำนึงถึงสภาพการณ์ เหตุผลความจำเป็นต่างๆ ที่ต้องใช้งบประมาณ ปัญหาคือรัฐธรรมนูญบอกเอาไว้ว่าถ้ากระบวนการผิดก็ตก ถ้าไม่ผิดก็ต้องผ่าน แต่นี่เป็นการวินิจฉัยผสมผสานกัน แถมด้วยการสั่งให้สภาผู้แทนมาลงมติกันใหม่ในวาระที่ 2-3 “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด วันข้างหน้าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งบังคับทุกองค์กรได้ สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นซุปเปอร์รัฐธรรมนูญ จะกระทบต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ เรื่องดุลยภาพของการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกัน ระหว่างองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่พรรคฝ่ายค้านมีความกังวลและจะยื่นญัตติด้วยวาจา เพื่อพูดคุย เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาสั่งให้องค์กรอย่างเราทำตาม ก็เป็นสิทธิและเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมาคิด คุยกันว่าอภิปรายแลกเปลี่ยนกันว่า จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไปอย่างไร” นายปิยบุตรกล่าว