ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11/1 ภูเก็ต เฝ้าระวังเชื้อลีจีโอเนลลา (Legionella spp.) ในแหล่งน้ำที่ใช้ในโรงแรมจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ในปี 2559 พบว่า แหล่งที่พบบ่อย ได้แก่ น้ำจากฝักบัว น้ำจากสปา และน้ำจากก๊อกน้ำ แนะผู้ประกอบการหมั่นดูแล บำรุงรักษาและทำความสะอาดแหล่งที่มีโอกาสพบเชื้อตามระยะที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เชื้อลีจิโอเนลลา เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคปอดอักเสบจากการใช้ฝักบัวในห้องพักโรงแรมในต่างประเทศ และพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทย ดังนั้นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ต ได้ทำการสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจาย โดยเก็บตัวอย่างน้ำที่นำมาจากแหล่งต่างๆ หอผึ่งเย็น ถังเก็บน้ำ ฝักบัว ก๊อกน้ำ สปา สระว่ายน้ำ และถาดแอร์ จากโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ มาทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีเพาะเชื้อ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงธันวาคม 2559 จำนวน 1,508 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่า ตรวจพบเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionella spp.) จำนวน 116 ตัวอย่าง (ร้อยละ 7.69) และตัวอย่างน้ำที่พบเชื้อมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ น้ำจากฝักบัว (ร้อยละ 13.2) สปา (ร้อยละ 12.9) และก๊อกน้ำ (ร้อยละ 10.4) แต่ปริมาณที่พบยังไม่สูงพอที่จะก่อให้เกิดโรคในคน นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลีจิโอเนลลา เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้ 2 ลักษณะ หากติดเชื้อโดยมีภาวะปอดอักเสบร่วมด้วยอาการก็จะรุนแรงและเกิดอัตราการป่วยตายสูง เรียกว่า โรคลีเจียนแนร์ ส่วนอาการแบบไม่รุนแรงเรียกว่า โรคไข้ปอนเตียก อาการจะคล้ายๆไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โรคนี้จะแสดงอาการรุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคไต โรคปอดเรื้อรังหรือในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจะติดเชื้อนี้ได้ง่ายแล้วโรคก็จะลุกลามจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เห็นความสำคัญของการควบคุมคุณภาพ ของระบบน้ำในสถานที่ต่างๆ เช่น ระบบเครื่องปรับอากาศ, แหล่งน้ำ และจุดที่กำหนดปล่อยละอองน้ำได้ โดยพบว่า ตัวอย่างน้ำ จุดที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุด ได้แก่ น้ำจากฝักบัว สปา และก๊อกน้ำ แม้ว่าปริมาณการปนเปื้อนยังไม่สูงพอที่จะเกิดอันตรายแก่มนุษย์ได้ ดังนั้นการเฝ้าระวังการแพร่กระจายเชื้อชนิดนี้ด้วยการดูแลและบำรุงรักษาระบบน้ำ รวมถึงการตรวจสอบเฝ้าระวังและติดตามผลของการบำรุงรักษาระบบน้ำให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญในการป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว “ที่ผ่านมามักจะมีรายงานข่าวนักท่องเที่ยวติดเชื้อลีจิโอเนลลาในประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ต จึงได้ทำการศึกษาเชื้อลีจิโอเนลลามาอย่างต่อเนื่อง โดยสำรวจพบเชื้อนี้จากหอผึ่งเย็น (Cooling Tower)  ในโรงแรม โรงพยาบาลหรือ ที่พักต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการสำรวจพบเชื้อตามอุปกรณ์ในห้องน้ำด้วย เช่น ฝักบัว ก๊อกน้ำร้อน น้ำเย็น รวมถึงเครื่องปรับอากาศ ตามบ้านเรือนทั่วไป สิ่งเหล่านี้นับเป็นเครื่องใช้ใกล้ตัวที่เป็นจุดแพร่กระจายเชื้อโรคสู่คนได้ง่าย ดังนั้นจึงควรหาเวลาทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เสี่ยง เช่น ล้างหน้ากากแอร์หรือแกะฝักบัวมาเช็ดล้างทำความสะอาดตะไคร่ที่มาเกาะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว