"ฝ่ายค้าน"ประกาศลงชื่อแต่ไม่เข้าร่วมประชุมงบวาระ 2 – 3 อ้างอยากให้ผ่านตามความเรียกร้องของประชาชน ด้าน "อนุดิษฐ์" ร้องส.ส.เสียบบัตรแทนกันลาออก ขณะที่ "ปิยบุตร" หวั่น ศาล รธน. ทำตัวเป็น "ซูเปอร์รัฐธรรมนูญ" กระทบการถ่วงดุลในระบอบ ปชต. วันที่ 12 ก.พ.63 ที่รัฐสภา คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น ร่วมกันแถลงถึงมติของวิปฝ่ายค้าน โดยนายสุทิน แถลงว่า มติ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ครั้งที่ 2 วันพรุ่งนี้ ได้กำหนดให้ ส.ส.ของพรรคร่วมฝ่ายค้านมาปฎิบัติหน้าที่ลงชื่อเป็นองค์ประชุมตามปกติ เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลผ่านกฎหมายนี้โดยรวดเร็ว ตามความต้องการของสังคม แต่ฝ่ายค้านจะไม่อยู่ร่วมประชุมด้วย และให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการดำเนินการ เพราะสาเหตุที่ทำให้กฎหมายงบประมาณต้องสะดุดเกิดจากฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกัน นอกจากนี้ การที่ไม่ขอร่วมลงมติด้วย เพราะกังวลว่าอาจจะขัดต่อมาตรา 143 เรื่องกรอบเวลา 105 วัน ซึ่งอาจสุ่มเสียงต่อการกระทำที่ส่อขัดกฎหมาย “มติที่ออกมาจะเอื้อให้ร่างพ.ร.บ.ผ่านสภาได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านให้ความร่วมมือด้วยการงดออกเสียงเพื่อให้พ.ร.บ.นั้นผ่านได้ง่าย แต่ก็มีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คือมีการเสียบบัตรแทนกันของฝ่ายรัฐบาล ทำให้พ.ร.บ.งบประมาณต้องสะดุด และต้องมีการพิจารณาใหม่ ทั้งนี้สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประชุมเพราะมีความกังวลหลายเรื่อง จึงขอเปิดทางให้ฝ่ายรัฐบาล และไม่ขอกระทำการที่เสี่ยงต่อการกระทำที่ไม่ชัดเจนว่าจะถูกหรือผิด” นายสุทินกล่าว ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุว่า เรียกร้องให้ สส.ที่เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง หากยังเพิกเฉย ฝ่ายค้านก็จะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆต่อไป พร้อมเชื่อมั่นว่า กรณีการเสียบบัตรเเทนกันจะมีเฉพาะในส่วนของ สส.ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีฝ่ายค้านอย่างแน่นอน “ความรับผิดชอบทางการเมือง เป็นสิ่งที่นักการเมืองทุกคนต้องมี ซึ่งการรับผิดชอบสูงสุดคือการลาออก ฝ่ายค้านจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและส .ส.ฝ่ายรัฐบาลที่เสียบบัตรแทนกันรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะทำให้สภาฯ เสียหาย หากไม่แสดงความรับผิดชอบจะยื่นฟ้องอาญาต่อไปหรือไม่ คงต้องให้โอกาสและเวลาฝ่ายรัฐบาลก่อน” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว ขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันกับทุกองค์กร จึงต้องจำกัดอำนาจไว้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น กรณีนี้ หากศาลเห็นว่ากระบวนการตรากฎหมายเป็นไปโดยไม่ชอบ ก็ต้องให้ร่างกฎหมายตกไปทั้งฉบับ และการที่ระบุให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติในวาระ 2 และ 3 ใหม่นั้น ถือว่าเป็นการวินิจฉัยเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ดังนั้นหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตจะเกิดปัญหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นซูเปอร์รัฐธรรมนูญ และอยู่เหนือรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งจะกระทบต่อการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายต่างๆ ทั้งตุลาการ นิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ตามระบอบประชาธิปไตย