อาหารทะเล กุ้งตกค้างกว่า1,000 ตัน ต่อเดือน เกษตรกรในกระบี่ กว่า 389 ราย กระอัก ไม่สามารถจับกุ้งมาขายได้ เพราะราคาตก ต้องทนเลี้ยงต่อไปทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ประเทศจีนประสบปัญหาเรื่องโรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ประกอบกับเที่ยวบินจากประเทศจีนที่บินตรงมายังจังหวัดกระบี่ ยกเลิกเที่ยวบิน ส่งผลทำให้ประเทศจีนต้องยุดรับซื้อกุ้งทุกชนิดจากจังหวัดกระบี่ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ไม่สามารถระบายหรือขายกุ้งออกสู่ตลาดได้ และมีกุ้งที่ตกค้างในบ่อเลี้ยงจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร นายหรินทร์ ลือประสงค์จิตร ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่กล่าวว่า จากเดิมที่ชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดกระบี่ได้รับออร์เดอร์สั่งซื้อกุ้งจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น 500% เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดกระบี่เคยส่งกุ้งสดของกระบี่ไปยังประเทศจีนเดือนละ 250 ตัน เป็นซื้อกุ้งต้มแช่แข็งเพิ่มอีกเดือนละ 750 ตัน รวมกว่า1,000 ตัน แยกเป็นส่งกุ้งสดโดยทางเครื่องบินเดือนละ 250 ตัน และส่งกุ้งต้มแล้วแช่แข็งส่งทางเรือเดือนละ 750 ตัน นั้น แต่หลังจากที่ประเทศจีนประสบปัญหาเรื่องโรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้ประเทศจีนหยุดรับซื้อกุ้งทุกชนิดจากจังหวัดกระบี่ ประกอบกับเที่ยวบินของประเทศจีนที่บินตรงมายังจังหวัดกระบี่ยกเลิกเที่ยวบิน ส่งผลทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงในจังหวัดกระบี่ไม่สามารถระบายหรือขายกุ้งออกสู่ตลาดได้ และมีกุ้งที่ค้างในบ่อเลี้ยงจำนวนมากที่ไม่สามารถหาตลาดมารองรับได้ และเมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจำเป็นต้องเลี้ยงกุ้งอยู่ในบ่อต่อไป แม้ถึงเวลาที่จะจับขายแล้วก็ตาม ซึ่งทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงนี้หน้าแล้ง เกิดโรคตัวแดงมาซ้ำเติมทำให้กุ้งของเกษตรกรต้องตายลงเป็นจำนวนมาก และประสบภาวะขาดทุนกว่าร้อยละ 50 จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือมาช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน นายหรินทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดกระบี่ มีอยู่ 389 ราย ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ในเบื้องต้น ทางชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ ได้ผลิตอีเอ็ม เพื่อรักษาโรคต่างๆของกุ้งเลี้ยงในบ่อและจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจนกว่าจะระบายออกสู่ตลาดได้