เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำ ที่จำต้องทิ้งไว้แต่เบื้องหลัง พร้อมกับมองไปข้างหน้า แล้วตบเท้า เดินก้าวไปให้ถึงจุดหมาย สำหรับ ปรากฏการณ์ “เบร็กซิต” ที่ “อังกฤษ” เจ้าของฉายาว่า “ผู้ดี” พาบรรดาแว่นแคว้นในสหราชอาณาจักร อย่างสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ เป็นอาทิ ออกจากการเป็นสมาชิกภาพของ “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” ตามอังกฤษ ซึ่งเพิ่งมีผลไปอย่างเป็นทางการเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังประชาชาวสหราชอาณาจักรลงประชามติไปเมื่อกว่า 3 ปีก่อน คือ มิ.ย. 2559 ผ่านพ้นมาแล้วก็ให้ผ่านพ้นไป ว่าแล้วทางการอังกฤษ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ก็เริ่มเร่งสานสัมพันธ์กับบรรดาชาติคู่ค้าเป็นประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่ระดับสูง เดินทางเยือน รวมไปถึงการเจรจาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ หลังจากที่สู่สถานภาพเอกเทศของอังกฤษให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยชาติแรกแทนที่จะเป็นยุโรปทวีปเดียวกัน ก็กลับกลายเป็น “ญี่ปุ่น” เจ้าของฉายาว่า “ซามูไร” บ้าง หรือ “ปลาดิบ” บ้าง ตามแต่จะเรียกขานกัน ถูกยกให้เป็นชาติแรกที่มาเป็นคู่เจรจาการค้ากับอังกฤษ หลังเบร็กซิตมีผลอย่างเป็นทางการ เริ่มจากที่รัฐบาลลอนดอน ทางการอังกฤษ ส่ง “นายโดมินิก ร็าบ” ในฐานะ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” เดินทางเยือนกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ก่อนเจรจาเบื้องต้นกับ “นายโตชิมิตสุ โมเตกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น” พร้อมด้วยเหล่าบรรดาแกนนำรัฐบาลคนอื่นๆ ของทางการโตเกียว ตั้งแต่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงต้นสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีร็าบ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นคือรายชื่อประเทศที่มีความสำคัญระดับต้นๆ ที่อังกฤษต้องมาเจรจา ไม่ว่าจะพิจารณาจากขนาดตลาด และความเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า เบื้องหลัง เบื้องลึก ของการที่อังกฤษ ยกให้เป็นญี่ปุ่น เป็นคู่เจรจาการค้าชาติแรกที่ทางการลอนดอนให้ความสำคัญ หลังเบร็กซิตมีผลอย่างเป็นทางการแล้วนั้น ก็เพราะว่า ญี่ปุ่น เป็นชาติที่เข้าไปลงทุนในอังกฤษรายใหญ่ นั่นเอง ถามว่า รายใหญ่เพียงใด ก็ต้องตอบ ระดับเบอร์สอง โดยเป็นรองเพียง “สหรัฐอเมริกา” เท่านั้น โดยมีรายละเอียดว่า มีบรรดาบริษัทจำนวนกว่า 1,000 แห่งเข้าไปลงทุน ดำเนินกิจการในอังกฤษ ส่งผลให้สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชาวอังกฤษ จำนวนมากกว่า 140,000 ตำแหน่ง พร้อมกับมีเม็ดเงินลงทุนที่ระดมลงไปบนเกาะสหราชอาณาจักรมากกว่า 7.8 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 1.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ราวกว่า 3.15 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ มีรายงานในช่วงที่ผลประชามติเบร็กซิตออกมาในระยะแรกๆ ทางการญี่ปุ่น ก็เปิดเผยว่า อาจจะทบทวนการลงทุนข้างต้น คือ ส่งสัญญาณว่า จะย้ายฐานการลงทุนออกจากสหราชอาณาจักร นั่นเอง เพราะหวั่นเรื่องปัญหาทางภาษีศุลกากรของสินค้าญี่ปุ่นที่จะส่งออกไปยังอียู ก็ส่งผลให้ทางการอังกฤษ ต้องออกอาการกุมขมับด้วยความวิตกกังวลตลอดห้วงที่ผ่านมา เนื่องจากหวั่นเกรงว่า หากญี่ปุ่นย้านฐานการลงทุนออกไปจริง ก็จะส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาการว่างงานที่ชาวเมืองผู้ดีจำนวนนับแสนคนที่จะต้องตกงาน ด้วยประการฉะนี้ ก็มีรายงานกระเส็นกระสายออกมาเช่นเดียวกันว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ พูดคุยกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกันอยู่เนืองๆ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็มีข้อต่อรองจากทางฟากญี่ปุ่น แดนซามูไร ด้วยเหมือนกัน สำหรับการเจรจาการค้าข้างต้น โดยมีรายงานว่า รัฐบาลโตเกียว ทางการญี่ปุ่น ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้พยายามต่อรองให้อังกฤษ ลดภาษีศุลกากรนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่น ที่ส่งออกไปจำหน่าย รวมถึงการใช้อังกฤษเป็นฐานส่งออกรถยนต์ไปสู่ภาคพื้นยุโรป หรืออียู ด้วย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นก็เรียกร้องให้อังกฤษ คลายมาตรการความเข้มงวดสำหรับการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารทะเลจากญี่ปุ่นลงด้วย หลังจากที่อังกฤษออกจากอียู ซึ่งก่อนหน้านั้นอียู ที่มีอังกฤษเป็นสมาชิกภาพอยู่นั้น ได้ออกมาตรการคุมเข้มสินค้าอาหารทะเลที่นำเข้าจากญี่ปุ่น เนื่องจากหวั่นเกรงเรื่องความปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น จนส่งผลโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จ.ฟูกูชิมะได้รับความเสียหาย เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีข้างต้น อย่างไรก็ดี ตามความคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า การลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติคู่เจรจาประเทศแรก ไม่น่าจะใช้เวลานานมากแบบข้ามปี โดยอย่างช้าก็น่าจะเป็นช่วงสิ้นปีนี้ ที่จะได้เห็นญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าชาติแรกของอังกฤษอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ชาวเมืองผู้ดีพ้นอกอียู หรือเบร็กซิตมีผลเป็นต้นมา