ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งเพิ่มทักษะให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เสริมสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ รองรับสังคมผู้สูงอายุ นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง สังคมไทยมีความสงบสุข และคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำการพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกช่วงวัย ซึ่งในปัจจุบันโครงสร้างกำลังแรงงานเริ่มเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุเริ่มมากขึ้นและผู้สูงอายุยังสามารถทำงานได้ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการทำงานสามารถนำศักยภาพนั้นถ่ายทอดให้แก่แรงงานรุ่นใหม่ได้ อธิบดี กพร.กล่าวต่อไปว่า กพร. มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแรงงาน และเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ทั้งส่งเสริมให้สามารถทำงานในระบบการจ้างงาน และประกอบอาชีพอิสระ โดยในปี 2563 มีเป้าหมายดำเนินการ 8,200 คน แบ่งเป้าหมายให้ทุกจังหวัดดำเนินการ สำหรับจังหวัดในเขตภาคเหนือ อาทิ เชียงราย มีการฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่สามารถรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์จำหน่าย สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน เช่น การฝึกอาชีพงานปักผ้าให้ผู้สูงอายุ ออกแบบลายปักเองได้ตามต้องการ แล้วนำมาตัดเย็บประกอบเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า หรือผ้าปูโต๊ะ สามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลายรูปแบบ จึงสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการฝึกแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ การทำผลิตภัณฑ์ของใช้ และของตกแต่งบ้านจากเศษวัสดุเหลือใช้ รวมทั้งการขายสินค้าออนไลน์ ด้านนางสาวอาภากร ว่องเขตกร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย (สพร.20 เชียงราย) กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดเชียงรายมียุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่เน้นให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี สพร.20 เชียงราย จึงจัดฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตและประสบการณ์ของผู้สูงอายุ โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เช่น จัดฝึกอบรมการจัดการระบบน้ำเพื่อการเกษตร (Smart farm) ควบคุมการปิด-เปิดน้ำในแปลงผักผ่านแอพพลิเคชั่นบน Smart phone การแปรรูปผลผลิตการเกษตร การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากผ้าปัก ซึ่งผู้สูงอายุที่ผ่านการฝึกอบรมได้รวมกลุ่มกันผลิตผลงานและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้า ทำให้ผู้สูงอายุเองก็มีความสุขที่มีรายได้มาดูแลตัวเองไม่เป็นภาระของลูกหลาน