เข้าสู่สังเวียนสนามที่ 2 ของ “ศึกเลือกตั้งขั้นต้น” เพื่อเฟ้นหาตัวแทนพรรค ไปสัประยุทธ์ในสมรภูมิใหญ่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อไป ในวันอังคารที่ 3 พ.ย.ปลายปีนี้ สำหรับ “การเลือกตั้งขั้นต้น” ที่ “นิวแฮมป์เชียร์” รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก กำหนดการเลือกตั้งขั้นต้นที่จะมีขึ้นนั้น ก็เป็นวันที่ 11 ก.พ. ตามวันเวลาท้องถิ่น ช้ากว่าประเทศไทยเราราว 11 ชั่วโมง รูปแบบการเลือกตั้งขั้นต้นที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ซึ่งจะชี้ชะตากันในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้านั้น ก็เป็นแบบ “ไพรมารี (Primary)” แตกต่างจากการเลือกตั้งขั้นต้นแบบ “คอคัส (Caucus) ที่รัฐไอโอวา ซึ่งถือเป็นการเปิดประเดิมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีขึ้นเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว และได้กล่าวถึงรายละเอียดพอสังเขปในการเลือกตั้งแบบคอคัสดังกล่าวไปก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์นั้น ก็เป็นแบบ “ระบบผสม (Hybrid Primary System) หรือ “ระบบกึ่งปิด (Semi – Closed Primary System)” โดยระบบผสมนี้ ได้มีการนำมาใช้ในการเลือกตั้งขั้นต้นหลายรัฐในสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการจำกัดการมีส่วนร่วมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งขั้นต้นแบบ “ระบบปิด (Closed Primary System)” ซึ่งระบบผสมนี้ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าว ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคการเมืองได้ ในฐานะผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบอิสระ แต่ผู้มีสิทธิชนิดนี้ สามารถลงคะแนนเสียงได้เพียงครั้งเดียวและพรรคการเมืองเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ ในระบบผสมข้างต้น ยังช่วยป้องกันการใช้กลยุทธ์สร้างความปั่นป่วนให้แก่พรรคเมืองคู่แข่งระหว่างกันด้วย เพราะตามการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีดั้งเดิม ใช้แบบ “ระบบเปิด (Open primary)” มีช่องโหว่ คือ พรรคการเมืองคู่แข่งอาจจะส่งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เข้าไปสร้างความปั่นป่วนในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้ ในศึกไพรมารีที่จะมีขึ้นนั้น ทั้งพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ก็จะชิงชัยภายในกันทั้งสองพรรค โดยในส่วนของพรรครีพับลิกันนั้น ดูจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น เหมือนการเลือกตั้งแบบคอคัสที่รัฐไอโอวา เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีชัยชนะแบบ “นอนมา” เหนือคู่แข่งอย่าง “นายบิลล์ เวลด์” อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ปรากฏว่า การชิงชัยในเวทีคอคัสที่รัฐไอโอวา ก็มีสถานการณ์เป็นเช่นที่ว่านี้ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ คว้าชัยชนะไปอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเสียงคิดเป็นร้อยละ 97.1 พร้อมกับสะสมคณะตัวแทน หรือดิลิเกต ไปด้วยจำนวน 39 เสียง ส่วนอดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ดิลิเกตไปเพียง 1 เสียง เพราะได้คะแนนเสียงคอคัสไปจำนวนเพียงร้อยละ 1.3เท่านั้น ส่วนผู้ลงสมัครรายอื่นๆ ได้คะแนนเสียงไม่ถึงดิลิเกตที่กำหนด แตกต่างจากสถานการณ์ชิงชัยในพรรคเดโมแครต ที่ต้องบอกว่า ถึงขั้นรบกันตะลุมบอนจนฝุ่นตลบ แบบพลิกไป พลิกมากันเลยทีเดียว จากการที่พลิกล็อก หักปากกาเซียนกันอย่างระเนระนาด ในศึกคอคัสที่รัฐไอโอวา อันเป็นสมรภูมิเปิดประเดิมการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัสที่รัฐไอโอวา เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ปรากฎว่า “นายพีท บูติเจิจ” อดีตทหารผ่านศึกในสงครามอัฟกานิสถาน และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองเซาท์เบนด์ รัฐอินดีแอนา แถมยังยอมรับว่าเขาพวกรักร่วมเพศ ได้กลายเป็น “ม้ามืด” พลิกคำวิจารณ์หักปากกาเซียน และฝ่ากระแสโพลล์ทุกสำนัก จนขึ้นมาเป็น 1 ใน 2 แข่งประชันกับ “นายเบอร์นี แซนเดอร์ส” วุฒิสมาชิก หรือสมาชิกสภาซีเนต แห่งรัฐเวอร์มอนต์ แบบผลัดกันนำผลัดกันตาม พร้อมกับเบียดให้ “นายโจ ไบเดน” อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สมัครระดับตัวเก็งของพรรคเดโมแครต ตกอันดับหมดลุ้นในสังเวียนคอคัสที่รัฐไอโอวา ไปอย่างสุดช้ำ เพราะว่าเขาไม่ได้ดิลิเกต แม้แต่เสียงเดียว เนื่องจากคะแนนเสียงโหวตที่ได้มีจำนวนไม่ถึง โดยผลการนับคะแนนที่รัฐไอโอวา ซึ่งมีความล่าช้า เนื่องจากมีปัญหาเรื่องแอพพลิเคชัน ที่นับคะแนนไปแล้วร้อยละ 97 นั้น ปรากฏว่า “นายพีท บูติเจิจ” ผู้เป็น “ม้ามืด” ได้คะแนนผลโหวตไป 42,235 เสียง คิดเป็นร้อยละ 25.0 พร้อมกับคว้าดิลิเกตไปแล้วจำนวน 11 เสียง ส่วนนายแซนเดอร์ส ได้ดิลิเกตไปด้วยจำนวนเท่ากันกับนายบูติเจิจ คือ 11 เสียง แต่ได้จำนวนคะแนนเสียงมากกว่า คือ 44,753เสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 26.5 ขณะที่ลำดับที่ 3 ตเป็นของ “นางเอลิซาเบธ วอร์เรน” สมาชิกสภาซีเนตรัฐแมสซาชูเซตส์ ได้คะแนนเสียง 34,312 หรือคิดเป็นร้อยละ 20.3 ส่งผลให้ได้ดิลิเกตไว้อยู่ในมือ 5 เสียง ว่ากันถึง สถานการณ์ชิงชัยในศึกไพรมารีที่รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ซึ่งจะมีขึ้นในกลางสัปดาห์นี้นั้น การสำรวจโพลล์หนล่าสุด ก็ระบุว่า นายแซนเดอร์ส ได้รับคะแนนนิยมเหนือว่าผู้สมัครคนอื่นๆ แบบทุกสำนักตามคะแนนเฉลี่ย ที่ร้อยละ 25.3 ตามมาแบบห่างๆ พอสมควรด้วยอดีตรองประธานาธิบดีไบเดน ที่ร้อยละ 17.0 ส่วนที่สาม คือ นายบูติเจิจ ที่ร้อยละ 14.0 หลังได้อานิสงส์จากศึกคอคัสที่รัฐไอโอวา จนมีกระแสดีขึ้นมาเป็นที่น่าจับตามองในฐานะคนที่จะมาแบ่งแต้ม ตัดคะแนน ของผู้สมัครตัวเก็งอย่างมิอาจวางตาได้ สำหรับศึกชิงจ้าวยุทธจักรภายในพรรคเดโมแครตครั้งนี้