MRC พาสมาชิก-สื่อมวลชน เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี พิสูจน์ความโปร่งใส ไม่กักน้ำ-ตะกอน ย้ำการผลิตไฟฟ้าไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำโขงทางด้านท้ายน้ำ-แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี รวมถึงเป็นสาเหตุภัยแล้ง ดร.อนุลัก กิตติคุน หัวหน้าห้องการกองเลขาคณะเลขาธิการลุ่มแม่น้ำโขงสากล และหัวหน้ายุทธศาสตร์และการร่วมมือประจำกองเลขา สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC : Mekong River Commission) นำคณะสมาชิกจากประเทศสมาชิก MRC เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานและบ่อแร่แห่ง สปป.ลาว นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และสื่อมวลชนจากหลายประเทศจำนวน 50 คนเข้าเยี่ยมชม และร่วมสังเกตการณ์การบริหารจัดการและการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.62 สำหรับในการเยี่ยมชมครั้งนี้ ทางผู้บริหารโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายถึงรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายน้ำล้น (Run-of-River) ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการก่อสร้าง การบริหารโรงไฟฟ้าโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแบบฝายน้ำล้น การระบายตะกอน ระบบทางปลาผ่านแบบผสม (Multi-System Fish Passing Facilities) และช่องทางเดินเรือ (Navigation Lock) ที่ผู้บริหารโรงไฟฟ้าให้ความสำคัญโดยใช้งบประมาณลงทุนเพิ่มเติมถึง 19,400 ล้านบาท การบริหารโยกย้ายประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการก่อนก่อสร้าง โดยจัดสรรชุมชน พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่ครบวงจร นอกจากนี้ยังได้บรรยายถึงที่การบริหารโรงไฟฟ้า เพื่อยืนยันพิสูจน์ว่าโรงไฟฟ้าไซยะบุรีไม่ได้กักน้ำและทำให้มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำโขงทางด้านท้ายน้ำ และไม่ได้เป็นต้นเหตุของภัยแล้งในขณะนี้แต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีการกักตะกอน การผลิตไฟฟ้าไม่ได้ส่งผลทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนสี เนื่องจากแม่น้ำโขงมักจะเป็นสีฟ้าเขียวช่วงหน้าแล้ง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลช่วงหน้าน้ำหลากจากการที่ปริมาณน้ำจำนวนมากในแม่น้ำสาขานำพาตะกอนและดินจำนวนมากลงสู่แม่น้ำโขงเป็นปกติประจำทุกปีอยู่แล้ว ทั้งนี้ภัยแล้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่ยังเกิดในภูมิภาคอื่นของ สปป.ลาวและไทยอีกด้วย ผู้บริหารโรงไฟฟ้าไซยะบุรีคาดว่าตามข้อมูลทางสถิติ ฤดูฝนในปีนี้เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นไป ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงน่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปีปกติ สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นโครงการของบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป.ลาว มีทุนจดทะเบียน 790,000,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยมีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)(CK Power Public Company Limited) 37.5%,บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (Natee Synergy Company Limited) 25%,บริษัทผลิตไฟฟ้าลาว มหาชน (EdL-Generation Public Company) 20%,บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (Electricity Generating Company Limited) 12.50% และบริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) (PT Sole Company Limited) 5% ทั้งนี้ CKPower ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 3 ประเภทจำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ประกอบด้วยโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46%(ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 62 ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้บริษัทบางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัทเชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัทนครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์